วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประโยชน์ของเสียงดนตรี

ประโยชน์ของเสียงดนตรี

นอกจากคนเรามีความต้องการ อาหาร เพื่อให้สามารถ ดำรงชีวิตอยู่ได้ แล้วมนุษย์ยัง มีความต้องการ อาหารอีก แบบหนึ่งซึ่งก็คือ อาหารทางใจ อาหารทางตา อาหารทางหู และอาหารทางสมองอีกด้วย ซึ่งอาหารประเภทหลังนี้ เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ เกิดความบันเทิง อีกทั้งยังสามารถ ขัดเกลา ให้มนุษย์มีจิตใจที่ดีงาม ได้อีกด้วย ซึ่งอาหารที่ว่านี้ก็คือ ศิลปะการขับร้อง การเล่นดนตรี นั่นเอง

วงดนตรีไทย มีประโยชน์มากมาย อาทิเช่น ช่วยให้ ผ่อนคลาย ทำให้จิตใจร่าเริงแจ่มใส เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ เนื่องจาก ในการเล่นดนตรี ต้องมีการเล่นกันหลายๆ คน ทั้งนักร้อง นักดนตรี ต้องมีสมาธิและ ที่สำคัญต้องมีความสามัคคีกัน เพื่อให้เกิดการ สร้างงานที่มีคุณภาพ นอกจากดนตรีจะช่วยสร้าง ความสามัคคีแล้วยัง ช่วยให้มนุษย์ มีวัฒนธรรม ซึ่งก็คือ คนที่แต่งเนื้อร้อง หรือนักประพันธ์เพลงต้องยึดหลักเกณฑ์ ที่มีระเบียบวินัย และคำสอนต่างๆ สอดแทรกลงใน เนื้อหาของเพลง เพื่อให้คนฟังได้คิดตาม และยึดเป็นหลัก ในการคิดทำสิ่งที่ดีงาม ต่อไป
ปัจจุบัน มีนักร้อง นักดนตรี มากมาหลายภาษา และถ้าเรามีการชื่นชอบบทเพลง ซึ่งบางครั้งก็ฟังไม่รู้เรื่อง แต่ชอบจังหวะ ของบทเพลงก็จะทำให้ เราได้มีการฝึกฝน และหัดร้อง จนสามารถที่จะเรียนรู้ถึง เนื้อหาของเพลงได้ จึงเป็นการฝึกภาษาไปอย่างอัตโนมัติ


ประโยชน์ของดนตรีต่อสังคมมนุษย์

1. ด้านการศึกษา นำเสียงดนตรีมาใช้ประกอบในการสอนแบบสร้างสรรค์ทางศิลปะผลปรากฏว่าเสียงดนตรี สามารถส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ เสริมสร้างความคิด จินตนาการ ช่วยกระตุ้นให้มีการแสดงออกในทางสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้มีความสัมพันธ์ระหว่างประสาทหู กล้ามเนื้อมือ ให้สอดคล้องกับการใช้ความคิด ทำให้หายเหนื่อย และผ่อนคลายความตึงเครียด



หลักการดังกล่าวนี้มีใช้มาตั้งแต่สมัยกรีก ในยุคเฮเลนิสติค(Hellinistic Period 440-330 B.C) ชนชาติกรีกได้พัฒนาหลักการของ อีธอส (Doctrine of ethos) ซึ่งเป็นความเชื่อในเรื่องของพลังแห่งสัจธรรมของดนตรี โดยกล่าวไว้ว่าพลังของดนตรีมีผลเกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกถึงความชื่นชอบ หรือความขัดแย้ง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ดนตรีเกี่ยวข้องกับความดีและความชั่วร้าย ในหนังสือ Poetics นั้น อริสโตเติล (Aristotle) ได้อธิบายว่าดนตรีมีอำนาจเหนือจิตใจมนุษย์ เขากล่าวว่าดนตรีเลียนแบบอารมณ์ต่าง ๆ ของมนุษย์ ฉะนั้นเมื่อมนุษย์ได้ยินดนตรีซึ่งเลียนแบบอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ก็จะเกิดมีความรู้สึกคล้อยตามไป ถ้าได้ยินดนตรีที่กระตุ้นอารมณ์ที่ทำให้จิตใจต่ำบ่อย ๆ เข้าก็ทำให้เขาพลอยมีจิตใจต่ำไปด้วย ตรงกันข้ามถ้ามีโอกาสได้ฟังดนตรีที่ช่วยยกระดับจิตใจ ก็จะทำให้ผู้นั้นเป็นคนที่มีจิตใจสูง ดังนั้น เปลโตและอริสโตเติล จึงมีความคิดเห็นตรงกันในข้อที่ว่าหลักสูตรการศึกษาควรประกอบด้วยวิชากีฬา และดนตรีที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการฝึกทั้งร่างกายและจิตใจ เปลโต สอนว่า “การเรียนดนตรีอย่างเดียวทำให้อ่อนแอและเป็นคนมีปัญหา การเรียนกีฬาอย่างเดียวทำให้เป็นคนที่อารมณ์ก้าวร้าวและไม่ฉลาด” ยิ่งกว่านั้นเปลโตยังได้กำหนดไว้ว่า “ดนตรีที่เหมาะสมสำหรับการศึกษาไม่ควรมีลีลาที่ทำให้อารมณ์อ่อนไหว ควรใช้ทำนองที่มีลีลาดอเรียน(Dorian)และฟรีเจียน (Phrygian)”บันไดเสียงทั้งสองข้างต้นทำให้เกิดอารมณ์กล้าหาญและสุภาพเรียบ ร้อย เปลโตยังเคยกล่าวไว้ว่า “จะให้ใครเป็นผู้เขียนกฎหมายก็แล้วแต่ ขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นผู้แต่งเพลงประจำชาติก็แล้วกัน”



2.ด้านการแพทย์

ใช้เสียงดนตรีกระตุ้นทารกในครรภ์มารดา ผลปรากฏว่าเด็กมีปฏิกิริยาตอบรับกับเสียงเพลง ทั้งทางพฤติกรรมและร่างกายที่ดี เสียงเพลงที่นุ่มนวลจะทำให้เด็กมีอาการสงบเงียบ ร่างกายเจริญเติบโตขึ้นและยังช่วยให้ระบบหายใจและระบบย่อยอาหารดีขึ้น การนำเสียงดนตรีมาบำบัดรักษาผู้ป่วยปัญญาอ่อน โดยเฉพาะการใช้ดนตรีลดหรือบรรเทาความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดของผู้ป่วยใน 48 ชั่วโมงแรก ผลปรากฏว่าช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลายภาวะทางอารมณ์ได้เป็นอย่างดี ดังที่ผู้ใช้นามปากกาว่า คุณทองจีน บ้านแจ้ง เขียนไว้ในเรื่อง แกะสะเก็ดคลาสสิค ในหนังสือ ชาวกรุง ฉบับที่ 5 พ.ศ.2522 ว่า“หมอชาวกรีกโบราณท่านหนึ่งชื่อว่า แอสคลีปีอุส(Asclepius)ได้ใช้ดนตรีบรรเลงให้ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดแล้วฟัง ปรากฏว่าช่วยทุเลาอาการเจ็บปวดได้ดี”



3. ด้านสังคม

มีการใช้จังหวะดนตรีมากำหนดควบคุมการทำงาน เพื่อให้เกิดความพร้อมเพรียง เช่นการพายเรือ จังหวะยก-ส่งของ เป็นต้น การใช้ดนตรีปลุกเร้าอารมณ์ให้เกิดความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ เช่นเพลงปลุกใจ เพลงเชียร์ เป็นต้น
ใช้ เสียงดนตรีเพื่อสร้างบรรยากาศในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ให้ดูศักสิทธิ์ เคร่งขรึม น่าเชื่อถือ หรือสื่ออารมณ์ความรู้สึกที่ร่าเริง เบิกบาน สนุกสนาน ในงานเลี้ยงสังสรรค์ งานฉลองต่างๆ เป็นต้น นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างงาน อาชีพ ให้กับบุคคลในสังคมอย่างมากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น นักดนตรี นักร้อง ครูสอนดนตรี นักประพันธ์เพลง นักผลิตรายการคอนเสิร์ต นักดนตรีบำบัด ผู้อำนวยการเพลงหรือ
วาทยากรนักเขียนทางดนตรี นักประดิษฐ์เครื่องดนตรี และผู้ซ่อมหรือปรับเสียงเครื่องดนตรี เป็นต้น



4. ด้านจิตวิทยา

ใช้เสียงดนตรีปรับเปลี่ยนนิสัยก้าว ร้าวของมนุษย์ รักษาโรคสมาธิสั้น โดยเฉพาะเด็กจะทำให้มีสมาธิยาวขึ้น อ่อนโยนขึ้น โดยใช้หลักทฤษฎีอีธอส (Ethos) ของดนตรี ซึ่งเชื่อว่าดนตรีมีอำนาจในการที่จะเปลี่ยนนิสัยของ มนุษย์ จนกระทั่งในบางกรณีสามารถรักษาโรคให้หายได้ ปัจจุบัน มีนักดนตรีบำบัดผู้ซึ่งมีความสามารถฟื้นฟูและบำบัดรักษาความเจ็บป่วยทั้งทาง ร่างกายและจิตใจ ทำงานในด้านนี้



5. ด้านกีฬา

ใช้ดนตรีประกอบกิจกรรมกีฬา เช่น ยิมนาสติกกิจกรรมเข้าจังหวะ การเต้นแอโรบิค เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมต่างๆมากมาย ที่ใช้ดนตรีเป็นส่วนประกอบในการดำเนินการทั้งทางตรงและทางอ้อม อาจกล่าวได้ว่าดนตรีเป็นส่วนประกอบที่ขาดเสียมิได้ในกิจกรรมของสังคมมนุษย์


แหล่งที่มา: kungsup.blogspot.com

ดนตรีกับการดำรงชีวิตของมนุษย์

ดนตรีกับการดำรงชีวิตของมนุษย์


ดนตรี เป็นวิจิตรศิลป์ที่มีความสัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์อย่างใกล้ชิด ชีวิตประจำวันของมนุษย์มักมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ดนตรี เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์


1. เกี่ยวข้องกับปรัชญาชีวิต คนตะวันตกเชื่อว่าวิญญาณกลับไปสู่พระเจ้า โดยอาศัยเสียงดนตรี จะได้ได้ว่า ดนตรีในสังคมตะวันตกเป็นเรื่องของจิต เรื่องของวิญญาณที่เกี่ยวข้องกับความสะอาด ความสูงส่งของดนตรีทำให้ดนตรีเจริญ


2. ดนตรีเกี่ยวข้องกับจิต เมื่อดนตรีเป็นสื่อ หรือพาหะที่จะนำให้จิตไปสู่ภาวะใดภาวะหนึ่ง ทำให้จิตดำ หรือทำให้จิตขาวก็ขึ้นอยู่กับพาหะ
นอกจากนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้กล่าวถึงดนตรีมีคุณค่าต่อจิตที่บริสุทธิ์ มีความสะอาด
โดยกล่าวว่า “ดนตรีและศิลปะบริสุทธิ์มีคุณ สนับสนุนความมีจิตว่าง” เมื่อดนตรีหยาบ ๆ ก็มีโอกาสที่จะทำให้จิตที่สัมผัสกับดนตรีหยาบตามไปด้วย ทำนองเดียวกัน ดนตรีที่ละเอียดอ่อน เมื่อสัมผัสกับจิตก็มีโอกาสทำให้จิตละเอียดอ่อนตามไปด้วย ดนตรีจึงเป็นเพียงสื่อที่จะนำไปสู่ความดำ หรือความขาวได้


3. ดนตรีเกี่ยวข้องกับศาสนาและพิธีกรรม เมื่อดนตรีสามารถเป็นสื่อชักนำไปสู่ความดำหรือความขาว นักการศาสนาจึงนำเอาดนตรีไปเป็นอุปกรณ์การสอน ปรุงแต่งเพื่อช่วยให้คนเข้าใจศาสนาได้ง่ายขึ้น โดยใช้ในรูปของเพลงสวด ดนตรีประกอบพิธีกรรม สำหรับในพุทธศาสนาก็มีเพลงสาธุการ เพลงหน้าพาทย์ ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ส่วนประเทศทางตะวันตก ดนตรีที่ใช้ในอดีตมักเป็นดนตรีที่ใช้ในพิธีกรรมเกือบทั้งสิ้น


4. ดนตรีเกี่ยวข้องกับการเมือง ในรูปของเพลงปลุกใจ ปลุกศิลปวัฒนธรรมปลุกความสามัคคีของคนในสังคม เพลงประจำชาติ เพลงเกียรติยศ ล้วนแล้วแต่เป็นดนตรีที่เกี่ยวกับการเมืองทั้งสิ้น ขงจื้อ นักปราชญ์จีนเขียนไว้ว่า “ประสบการณ์ของมนุษย์ชาติหลายศตวรรษแล้วได้ชี้ให้เห็นว่า ไม่มีสิ่งใดจะเชื่อมความสัมพันธ์ของมนุษย์ให้กระชับได้ดีเท่าเสียงดนตรี และเสียงเพลง ดนตรีนำความสามัคคีมาสู่ป่วงชน ดนตรีเป็นภาษาสากลที่ทุกคนรับรู้ได้ สัญลักษณ์เป็นสื่อภาษาทางปัญญา


5. ดนตรีเกี่ยวข้องกับธุรกิจ ในโลกปัจจุบัน ธุรกิจถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต เมื่อมีเสียงดนตรีก็ย่อมมีธุรกิจการดนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น เพลงประกอบโฆษณา สินค้า เทปเพลง แผ่นบันทึกเสียง


6. ดนตรีเกี่ยวข้องกับการศึกษา เมื่อดนตรีเกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับจริยศาสตร์ ในการที่จะขัดเกลาจิตใจคนในสังคมให้สามารถอยู่ร่วมกันดนตรีเป็นสื่อนำไปสู่การศึกษาชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ ดังคำกล่าวที่ว่า “เรียนดนตรีเพื่อพัฒนาคุณภาพของคน แล้วคนนำออกไปพัฒนาคุณภาพชีวิต

7. ดนตรีเกี่ยวข้องกับการบำบัด ดนตรีบำบัดหมายถึงการนำดนตรี และกิจกรรมดนตรีต่าง ๆ ไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพในด้านต่าง ๆ ของตนเองได้ และสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข


8. ดนตรีเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม มนุษย์แต่ละกลุ่มชนต่างก็มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงหรือแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพที่อยู่อาศัย การดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ ความเชื่อ ภาษา การสื่อสาร พิธีกรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ของแต่ละกลุ่มชน ดนตรีที่รับใช้มนุษย์ในแต่ละกลุ่มชนจึงมีความสัมพันธ์กับสภาพความเป็นอยู่ เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบสูงทำนองมักจะสูง ๆ ต่ำ ๆ ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ราบลุ่มทำนองมักจะราบเรียบ ไม่ค่อยกระโดดเครื่องดนตรี ที่บรรเลงก็มักถูกสร้างขึ้นด้วยวัสดุที่หาได้โดยทั่วไปในท้องถิ่น เช่น ชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคที่มีไม้ไผ่มาก เครื่องดนตรีส่วนใหญ่ก็มักจะสร้างด้วยไม้ไผ่ เป็นต้น
บทเพลงที่ถูกสร้างขึ้นของมนุษย์แต่ละกลุ่มชน จึงมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองตามรูปแบบของการดำรงชีวิต ความเชื่อ ตามขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชน


เขียนโดย POON

คนข้างๆ เพลงเพราะจากผู้ดูแลบล็อกครับ

บริตป็อป

บริตป็อป

          บริตป็อป (อังกฤษ: Britpop) คือ บริติช อัลเทอร์เนทีฟร็อก ซึ่งเป็นการเคลือนไหวทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของอังกฤษช่วงกลางยุค 1990s ลักษณะของศิลปิน ส่วนมากจะได้รับอิทธิพลมาจาก ศิลปินดนตรีอังกฤษในช่วง ทศวรรษ 60s-70s ศิลปินเด่น ๆ ของแนวนี้คือ เบลอ และ โอเอซิส และยังรวมถึง ซูเอด, พัลพ์, โอเชียนคัลเล่อร์ซีน, ชูเปอร์กราส, เดอะเวิร์ฟ และ เรดิโอเฮด

ประวัติ

          การพัฒนาและการกำเนิดของบริตป็อปเกิดจาก ปฏิกิริยาต่อต้านวัฒนธรรมและกระแสดนตรีในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980s และ 1990s ตอนต้น เช่นแนว เอซิดเฮาส์ และฮิปฮอป ซึ่งสองแนวดังกล่าวทำให้เกิดดนตรีที่เน้นจังหวะ (หนักไปทางใช้อิเล็กทรอนิกส์) ซึ่งทำให้วงการดนตรีอินดี้บริเตนหันมาสนใจ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ดนตรีในอังกฤษที่ใช้เน้นเสียงกีตาร์เป็น หลัก ชูเกรซิงมูฟเมนท์ (ร็อกนอกกระแสในไอร์แลนด์ และอังกฤษปลายยุค 80 จึงเกิดโดยได้ต่อต้านกระแสดนตรีพวกปลายยุค 80-90 ตอนต้น โดยทำจากโปรดักส์นาน ๆ มีความเป็นไซคีดีริก (วงแนว ชูเกรซิง เด่น ๆ คือ เดอะจีซัสแอนด์แมรีเชน และ มายบลัดดีวาเลนไทน์)

          แต่กุญแจที่สำคัญจริง ๆ ที่ปลุกบริตป็อปขึ้นมาคือ กรันจ์ การบุกอังกฤษโดยวงแนวกรันจ์อย่าง เนอร์วาน่า, มัดฮันนี่, เพิร์ลแจม, ซาวด์การ์เดน และ อลิซอินเชนส์ ทำให้วงการดนตรีอังกฤษตื่นตัว

          บริตป็อปทั้งหลายต่างได้รับแรงดลใจสำคัญอย่างใหญ่หลวงจาก บริติชกีตาร์มิวสิก ในปี 1960s-1970s (ยุควงอังกฤษบุกอเมริกา) วงที่บริตป็อปทั้งหลายได้รับอิทธิพลคือ เดอะ บีทเทิลส์ และ เดอะโรลลิงสโตนส์ (จอมพลใหญ่ในการบุก) แนวดนตรี ม็อด (เดอะ ฮู, เดอะ คิงค์ส และ เดอะสม็อลเฟซส์) และจากดนตรีในยุค 1970-1980 เช่นจากศิลปินแนว แกลมพังค์ (เดวิด โบวี และ ที.เร็กซ์) แนวพังค์ร็อก( เซ็กซ์ พิสทอลส์, เดอะ แคลช, เดอะแจม และ เดอะบัซค็อกส์)

          บรรพบุรุษโดยตรงของกระแสบริตป็อปคือวงอินดี้ในยุค 1980 และ 1990 (ตอนต้น) เช่น เดอะสมิธส์, จีซัสแอนด์แมรีเชน, และ เจมส์ แนวหน้า (บริตป็อปรุ่นบุกเบิก) คือ เดอะสโตนโรส, เดอะแฮปปี้มันเดส์, และ อินสไปรัลคาร์เปทส์ แต่บางทีวงที่ส่งอิทธิพลโดยตรงต่อบริตป็อปคือ C86 (เล่นแนวอินดี้ป๊อปปี้ กีตาร์)

          ในขณะที่อเมริกากระแสกรันจ์ โพสต์-กรันจ์ และฮิปฮอป กำลังแรง อังกฤษก็จุดประกายตอนยุค 1960 (ยุควงอังกฤษบุกอเมริกา) เกิดขึ้นโดยวงอย่าง ซูเอด, โอเอซิส, เดอะเวิร์ฟ, เรดิโอเฮด, พัลพ์ และ เบลอ ฯลฯ โดยวงพวกนี้ส่วนมากจะได้รับอิทธิพลจาก บริติชร็อกอันเดอร์กราวด์ ในยุค 80 (ก็คือแนว ทวีป็อป, ชูเกรซิง และ สเปซร็อก) พูดง่าย ๆ ก็คือเหมือนตอนยุค 60 ที่อังกฤษบุกอเมริกานั้นเอง อย่างตอนนั้นมี บีทเทิล และ โรลลิ่งสโตน เปนคู่กัดกัน บริตป็อปก็มี โอเอซิสกับเบลอ มากัดกันเอง เบลอจะมีแนวดนตรีคล้ายวง เดอะสม็อลเฟซส์ กับ เดอะ คิงค์ส ส่วนโอเอซิสเอาความกวนแบบ เดอะ โรลลิ่งสโตน แต่ซาวด์ดนตรีแบบเดอะ บีทเทิลส์มา ส่วน เดอะเวิร์ฟ และ เรดิโอเฮด นี้ได้รับอิทธิพลจาก เอลวิส คอสเตลโล, พิงก์ ฟลอยด์ และ อาร์.อี.เอ็ม.

          สรุปบริตป็อปแท้ ๆ ก็เป็นวงช่วงปี 1990 กลาง ๆ วงตอนหลังอาจจะเรียกไม่ใช้บริตป็อปของแท้เท่าไหร่ แถมแท้ ๆ จะเน้นซาวด์กีตาร์ดนตรีจะคล้ายงานของอันเดอร์กราวน์วงอังกฤษยุค80 บวกงานของวงอังกฤษยุค 60


ที่มาจาก : th.wikipedia.org

บทเพลงเพราะครับ

ดนตรีกับสมอง ตอน เสียงแห่งดนตรีเสียงแห่งชีวิต

ดนตรีกับสมอง ตอน เสียงแห่งดนตรีเสียงแห่งชีวิต

         ธรรมชาติได้สร้างสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ไว้มากมาย มนุษย์เราก็ถือว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นเหมือนกัน อวัยวะที่สำคัญที่สุดของมนุษย์เราก็คือ สมอง สมองถือว่าเป็นศูนย์กลางในการควบคุมการทำงานแทบทุกส่วนของร่างกาย เราจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับสมองให้มากขึ้น คงเป็นการดี หากเรามีวิธีที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสมองให้มากขึ้น และวิธีหนึ่งที่ดีก็คือการใช้ดนตรี
“ดนตรีคือชีวิต และชีวิตก็คือดนตรี เมื่อไรก็ตามที่เราเริ่มมีชีวิตขึ้นมา ณ ตอนนั้นเราก็เริ่มมีดนตรีขึ้นมาเช่นกัน”
เรา ลองมาดูชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์บ้าง เมื่ออายุครรภ์ประมาณสี่เดือนครึ่ง ระบบด้านการฟังจะมีพัฒนาการเกือบจะสมบูรณ์เต็มที่ เด็กจะรับรู้และได้ยินเสียงได้ทั้งจากภายนอกและภายในครรภ์ได้ ซึ่งแม่สามารถที่จะพูดคุยกับลูก และการเปิดเพลงเบา ๆ ที่ฟังสบาย ๆ ให้ฟังให้กับลูกได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้เด็กมีประสบการณ์ของเสียงดนตรีตั้งแต่อยู่ใน ครรภ์ ส่วนเสียงดนตรีเด็กได้ยินในครรภ์ตลอดเวลาก็คือเสียงการเต้นของหัวใจแม่ และเมื่อเด็กคลอดออกมา เสียงแรกที่เด็กคุ้นเคยมากที่สุดก็คือเสียงเต้นหัวใจของแม่  เด็กแรกเกิดนั้นสามารถจำเสียงและแยกเสียงของแม่ออกจากเสียงคนอื่นได้อย่าง แม่นยำ แสดงว่าเด็กได้ยินเสียงแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และ “เสียงแห่งชีวิต” ได้กำเนิดขึ้นแล้ว

ที่มา: http://www.anywaystravel.com

วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

กิจกรรมดนตรีเพื่อเยาวชน

กิจกรรมดนตรีเพื่อเยาวชน

 ในสภาวะปัจจุบัน   ครอบครัวรุ่นใหม่เริ่มเข้าใจถึงความสำคัญของการเรียนดนตรี  พ่อ แม่  ครอบครัวคนรุ่นใหม่ที่รักลูกดังดวงใจตั้งความหวังให้ลูกเติบใหญ่มีชีวิตที่ดี  มีการสนับสนุนให้  เด็ก ๆ ได้เรียนดนตรีตั้งแต่เล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมหรือปฏิบัติเครื่องดนตรี  มีความเตรียมความพร้อมทุก ๆ ด้านตั้งแต่ก่อนจะเกิดเสียอีก  ทั้งทางด้านสภาพแวดล้อม  ด้านการศึกษาในระบบโรงเรียน  และการศึกษานอกระบบ

                     สังคมโลกาภิวัฒน์ไร้พรมแดนวัฒนธรรมต่าง ๆ ได้ถ่ายเทหมุนเวียนรวดเร็วทั้งแง่บวกและแง่ลบ  เด็ก ๆ ในสังคมปัจจุบันได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  เด็ก ๆ ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างก่อนเวลาที่เด็ก ๆ ไม่ควรรู้  ไม่ควรเห็น  จนเกิดปัญหาสังคมต่าง ๆ เช่น  นักเรียนเป็นนักเลง  การถูกล่วงละเมิดทางเพศ  เด็กติดเกมส์คอมพิวเตอร์  เด็กหนีเรียนหรือไม่สนใจเรียน

                      ทุกวันนี้  เด็ก ๆ ถูกทำให้รู้สึกว่าไร้ศักยภาพ  และไร้ศักดิ์ศรี  เพราะโครงสร้างอำนาจและโครงสร้างเงิน  องค์กรต่าง ๆ ในสังคมล้วนเป็นองค์กรอำนาจ  ไม่ว่าเป็นองค์กรการเมือง  ทางราชการ  ทางการศึกษา  ทางธุรกิจ  และทางศาสนา  นอกจากนั้นยังมีโครงสร้างอำนาจเงินที่กดทับคนทั้งหมด  ในโครงสร้างอำนาจนี้ก่อให้เกิดความบีบคั้น  ความไร้ศักยภาพ  ความหงุดหงิดรำคาญใจ  และความรู้สึกสิ้นหวัง (hopelessness) ทั้งหมดล้วนทำลายสุขภาพจิต  ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  และศักยภาพแห่งความสร้างสรรค์



INN  โครงสร้างแห่งความสุขและความสร้างสรรค์

                INN  เป็นโครงสร้างที่จะทำให้หลุดจากความบีบคั้นดังกล่าวไปสู่ความสุขและความสร้างสรรค์

                I =  Individual    หรือ  ปัจเจกบุคคล

                                เด็ก ๆ แต่ละคนมีคุณค่า  มีศักดิ์ศรี  และมีศักยภาพ  เราต้องตั้งใจของเราไว้ให้ดี  มีความเพียรอันบริสุทธิ์  มีความสุขจากการแสวงหาความรู้และการทำความดี  เราอย่าติดในยศศักดิ์  อัครฐานหรือตำแหน่งอันเป็น “รูปแบบ”  (Form)  ต้องไปสู่แก่นสัจจะ  คือความเป็นมนุษย์ของแต่ละคน  คนแต่ละคนถ้ามีศักดิ์ศรีและทำดีจะมีผลมาก  ถ้าเราระลึกรู้อย่างนี้จะประสบอิสรภาพ  ความสุขและความสร้างสรรค์

                N =  Nodes  หรือ  กลุ่ม

                                นักเรียนดนตรีเล่นเครื่องดนตรีที่บ้านคนเดียวก็มีความไพเราะระดับหนึ่ง    แต่ถ้าหลาย ๆ คน   หลาย ๆ บ้านมาเล่นร่วมกันจะไพเราะมากขนาดไหน  เด็ก ๆ ควรมารวมกลุ่มกันด้วยความสมัครใจ  สมาชิกกลุ่มพบปะกันบ่อย ๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน   ชวนกันทำอะไรที่สร้างสรรค์  เมื่อรวมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้จะมีความสุขและความสร้างสรรค์เหลือหลาย  ความเป็นกลุ่มจะหลุดพ้นจากความบีบคั้นที่ดำรงอยู่ในองค์กรอำนาจทางดิ่ง  ความมีกลุ่มอันหลากหลายให้เต็มสังคม  คนคนหนึ่งอาจเป็นสมาชิกได้หลายกลุ่มตามความสมัครใจ

                N =  Networks   หรือ  เครือข่าย

                                ปัจเจกบุคคล (I)   กลุ่ม (N)  ก็ตาม   ควรเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับบุคคลหรือกลุ่มอื่น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  แต่ละคนแต่ละกลุ่มอาจเป็นสมาชิกของหลายเครือข่ายตามความสมัครใจ



INN  หรือ   บุคคล -  กลุ่ม -  เครือข่าย   จะเป็นโครงสร้างที่ไม่มีใครมีอำนาจเหนือใคร  ทุกคนและทุกกลุ่มเข้ามาเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย  มีการเรียนรู้ร่วมกัน   โครงสร้างอย่างนี้จะให้ความสุข  ความสร้างสรรค์  เป็นโครงสร้างที่มีจิตวิญญาณ  และมีพลังที่จะเยียวยาสังคมโลกาภิวัฒน์  สังคมโลกที่เจ็บป่วย

INN   โครงสร้างแห่งความสุขและความสร้างสรรค์ที่จะนำเสนอ  ได้แก่  กิจกรรมดนตรีเพื่อเยาวชน  จึงเป็นทางรอดของสังคม   นักเรียนควรมีโอกาสแสดงความสามารถ  เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น  ฝึกทักษะชีวิตการเป็นผู้นำ  ผู้ตาม  และความภาคภูมิใจในความสามารถทีคุณภาพ  มีศักดิศรี  และมีศักยภาพ



กิจกรรมดนตรีเพื่อเยาวชนในประเทศไทย

เยาวชนและผู้สนใจสามารถร่วมกิจกรรมดนตรีในประเทศไทยได้  เช่น    วงดุริยางค์เยาวชนไทย  Thai  Youth  Symphony  Orchestra (TYO)  ,วง ดร. แซกเชมเบอร์ออร์เคสตร้า (Dr. Sax  Chamber  Orchestra)  ,  โครงการเยาวชนรักดนตรี  มศว ประสานมิตร  ,  MCGP  String  Chamber  Orchestra  วิทยาลัยดุริยางคศิลป์  มหาวิทยาลัยมหิดล , วงออร์เคสตร้าชุมชนประสานมิตร  มศว  เป็นต้น

 กิจกรรมดนตรีในโรงเรียน

                การเรียนการสอนดนตรีขั้นพื้นฐานตาม พ.ร.บ. การศึกษาใหม่   กลุ่มโรงเรียนเอกชนจะมีบทบาทและความเข้าใจในการจัดการศึกษาวิชาดนตรี  มีการสอนโดยเน้นให้นักเรียนได้เรียนปฏิบัติเครื่องดนตรีจริง ๆ ในการเรียนการสอน  พร้อมทั้งจัดกิจกรรมดนตรีในโรงเรียน  ในช่วงแรก ๆ ก็จะเริ่มกันที่วงโยธวาฑิตและการแข่งขันในระดับต่าง ๆ ทั้งในประเทศจนถึงระดับนานาชาติ  ต่อมาพัฒนาเป็นวงซิมโฟนิคแบนด์  และในปัจจุบันหลาย ๆ โรงเรียนเริ่มสนับสนุนและให้ความสำคัญของดนตรีประเภทเครื่องสายสากลในลักษณะวงเชมเบอร์  วงออร์เคสตร้า  และในอนาคตอันใกล้คงได้รับฟังบทเพลงในลักษณะวงซิมโฟนีออร์เคสตร้ากันเป็นแน่

                โรงเรียนที่มีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนดนตรีสากลกลุ่มเครื่องสายสากล  ดังเช่น  โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย   เป็นโรงเรียนหนึ่งที่มีการเรียนการสอนดนตรีเครื่องสายสากลมานาน  ซึ่งมีกิจกรรมวงจุลดุริยางค์วชิราวุธวิทยาลัยเป็นกิจกรรมดนตรีในโรงเรียน  และอีกหลาย ๆ โรงเรียนที่ริเริ่มการเรียนการสอนดนตรีเครื่องสายสากลในโรงเรียนในเวลาต่อมา  เช่น  โรงเรียนเซนต์จอนห์ , โรงเรียนเซนต์ดอมินิก ,  โรงเรียนสารสาสน์พิทยา , โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน  และโรงเรียนทิวไผ่งาม



องค์ประกอบกิจกรรมดนตรีเพื่อเยาวชน

1.       นักดนตรีควรอยู่กับกิจกรรมดนตรี  ร่วมเล่นและพัฒนาวงดนตรีไม่น้อยกว่า 3 ปี

2.       กิจกรรมวงดนตรีต้องใช้เวลาและมีอายุปีในการทำกิจกรรม  เพื่อการเติบโตและพัฒนาความสามารถนักดนตรี  โปรแกรมเพลงการแสดงต่าง ๆ

3.       นักดนตรีที่ทำกิจกรรมดนตรี  ควรมีชั่วโมงเรียนดนตรีเพื่อพัฒนาความสามารถบุคคล

4.       เครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างนักเรียนดนตรี   ผู้ปกครอง  คณะกรรมการดำเนินการ  ต้นสังกัด  มิตรรักแฟนเพลง



ปัญหาการจัดกิจกรรมดนตรีเพื่อเยาวชน :  การสอนดนตรีต่างวัฒนธรรม

                ปัญหาในเรื่องดังกล่าว  เรเมอร์ ได้เสนอแง่มุมการศึกษาไว้ 2 กรณี  คือ (1)  ในฐานะที่ประเทศอเมริกาเป็นประเทศประชาธิปไตยและประกอบไปด้วยกลุ่มเผ่าพันธุ์ที่แตกต่างหลากหลาย  ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว   (2)  ปัญหาความสำคัญของความแตกต่างของวัฒนธรรมทางดนตรี  ในเรื่องดังกล่าวผู้เรียบเรียงนำเอาประเด็นที่ 2 มาสรุปเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญ  และที่ส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอนดนตรีในโรงเรียนเท่านั้น

                มนุษย์มีความเหมือนและความแตกต่าง  ถ้าศิลปะช่วยสะท้อนโลกทัศน์  ระบบความคิดมนุษย์ออกมาในทางศิลปะ (as  a  whole  captures  and  displays  th  dynamics  of  human  subjective  experience)  ดังนั้น  ในการสอนของเราต้องสอนดนตรีที่หลากหลาย  เนื่องจากดนตรีจะช่วยให้ผู้เรียนรู้จักทั้งตนเอง  และรู้จักว่าผู้อื่นนั้นมีความเหมือนและมีความแตกต่างกับตนเองอย่างไร

                การเรียนดนตรีในวัฒนธรรมของตนเอง  มีความจำเป็นที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้ประสบการณ์สุนทรียะที่คนในวัฒนธรรมของตนนั้นได้แสดงออกมา  แต่เราก็มีความจำเป็นที่ให้ผู้เรียนได้เรียนประสบการณ์สุนทรียะของวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่แตกต่างจากผู้เรียนด้วย  เพื่อผู้เรียนได้เข้าใจว่าโลกใบนี้ประกอบด้วยคนที่แตกต่างในเรื่องวัฒนธรรม  มีอะไรที่มนุษย์ในโลกใบนี้แสดงออกมาเหมือนกันทั้งโลก  และมีอะไรที่ไม่เหมือนกัน   และการแสดงออกในเรื่องศิลปะ  หรือประสบการณ์ในเรื่องสุนทรียะ  มีอะไรที่มนุษย์ทั้งโลกนี้แสดงออกได้เหมือนกันหมดและมีอะไรที่แตกต่างกัน   ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องสอนดนตรีทั้งในวัฒนธรรมของผู้เรียนและที่มีความแตกต่างไปจากที่ผู้เรียนด้วยเหตุผลที่กล่าวไปแล้ว

โดย  ยงยุทธ    เอี่ยมสอาด

อาจารย์ดนตรีประจำโรงเรียนสาธิต  มศว  ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม)


หนังสืออ้างอิง

ประเวศ   วะสี. (2547).   การพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ  สู่สภาวะจากการมีจิตสูงทั้งประเทศ.

                   กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิสดศรี – สฤษดิ์วงศ์.

สุกรี    เจริญสุข, (2547).  เส้นทางพรสวรรค์ที่สร้างได้.  วารสาร Music  Talk.

ศักดิ์ชัย   หิรัญรักษ์.  ปัญหาของการสอนดนตรีต่างวัฒนธรรม.  วิทยาลัยดุริยางคศิลป์

   มหาวิทยาลัยมหิดล (อัดสำเนา)

พระเจ้าอยู่หัวกับการดนตรี

พระเจ้าอยู่หัวกับการดนตรี



 พระเจ้าอยู่หัวกับการดนตรี


บรรยายในชั้นเรียนปริญญาเอก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล   โดย อาจารย์สันทัด  ตัณฑนันทน์     สรุปคำบรรยายโดย ประพันธ์ศักดิ์  พุ่มอินทร์
(หากมีความประสงค์นำบทความเพื่อการเผยแพร่ กรุณาอ้างถึง อาจารย์สันทัด  ตัณฑนันทน์  เป็นผู้บรรยายด้วย)



                อาจารย์สันทัด   ตัณฑนันทน์   ท่านเริ่มชีวิตการเป็นนักดนตรีด้วยการเล่นดนตรีในชมรมดนตรี  ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   และได้มีโอกาสเข้าไปเล่นดนตรีในรายการ “ดนตรีนักเรียนวันศุกร์”  ของสถานีวิทยุ อส. พระราชวัง   โดยท่านได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 9  ในห้องทรงดนตรี  และในหลวงทรงรับสั่งว่า  จะมาเล่นดนตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงเกิด  การทรงดนตรีตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ  เป็นประจำทุกปีตั้งแต่  พ.ศ.  2501 จนถึง  ปี พ.ศ. 2516  จึงได้ยกเลิกไปเนื่องจากเหตุการณ์การเมืองไม่ปรกติ   ดังนั้น   อาจารย์สันทัด   ตัณฑนันทน์  จึงได้มีโอกาสร่วมบรรเลงดนตรีกับพระองค์ท่านในเวลาต่อมาในวงดนตรี  อส.  และตามเสด็จถวายงานอย่างใกล้ชิด  
                    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   รัชกาลที่ 9  ทรงมีพระราชดำริให้ทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนขึ้น  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ได้ถูกรวบรวมและนำเสนอให้เด็กไทยเข้าใจได้โดยง่าย   ซึ่งแนวความคิดนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งต่อเยาวชนไทย  เพราะถ้าเนื้อหาวิชาต่าง ๆ  เป็นภาษาอังกฤษเยาวชนไทยก็ยากที่จะเข้าถึงความรู้เหล่านั้น   ซึ่งประเทศแถบเอเซียที่พัฒนาอย่างรวดเร็วส่วนใหญ่จะนำความรู้ภาคภาษาอังกฤษมาแปลเป็นภาษาของตนเอง  เช่น  ประเทศญี่ปุ่น   ประเทศจีน   แม้แต่วิชาการดนตรีก็ถูกนำมาแปลจนหมดสิ้น   ทำให้เด็กประเทศนั้นได้รับความรู้อย่างมาก  และความก้าวหน้าทางการศึกษาส่งผลให้การพัฒนาประเทศเกิดความรุ่งเรืองอย่างยิ่ง
                ทางด้านการส่งเสริมให้ประชาชนและเยาวชนรักการอ่าน  การศึกษาค้นคว้า   ท่านทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งห้องสมุดประชาชนขึ้น  ดังที่ห้องสมุดประชาชนสวนลุมพินี   ซึ่งท่านยกตัวอย่างประธานาธิบดีลินคอร์นของประเทศสหรัฐอเมริกา  ไม่ได้มีโอกาสเรียนในโรงเรียนสามัญ  แต่อาศัยการเรียนรู้จากห้องสมุดสาธารณะ  จนมีความรู้ความเชี่ยวชาญ     โครงการพระราชดำริของท่านหลายโครงการไม่ได้อาศัยเงินงบประมาณมากแต่อย่างใด   ตัวอย่างเช่น  โครงการจราจรเคลื่อนที่เร็ว (ม้าเร็ว)  ซึ่งในหลวงและสมเด็จย่า  ท่านได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์มา 2 ล้านบาทเพื่อให้ซื้อรถมอเตอร์ไซด์  และฝึกงานให้ตำรวจจราจรสามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว   ไปปลดล็อคการจราจรของกรุงเทพ ฯ   นอกจากนั้นยังฝึกให้มีความสามารถในการปฐมพยาบาลผู้ป่วย   การทำคลอดกรณีฉุกเฉิน   ซึ่งเป็นการลงทุนโดยการพัฒนาความรู้ความสามารถและเพิ่มสมรรถนะในการทำงานของตำรวจ   เป็นโครงการที่ยังเห็นผลปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้
               


             พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 9 เคยมีรับสั่งกับคณะนักดนตรี อส. ว่า  ดนตรีแจ๊ส เล่นไปเถอะดี   ดีต่อตัวเองด้วย    อาจารย์สันทัด ตัณฑนันทน์  ท่านได้กลับไปคิดทบทวนข้อความโดยละเอียดแล้วถึงเข้าใจความหมายว่า   ครั้งหนึ่ง  ดร.สายสุรี   จุติกุล   ซึ่งท่านเป็นนักดนตรีที่ชอบแนวดนตรีคลาสสิกมากกล่าวว่า   ดนตรีแจ๊สต้องใช้ปฏิภาณในทันทีทันใด    การเล่นอย่างมีปฏิภาณก็คือการคิดอย่างมีสติสัมปชัญญะ   ซึ่งถ้าจะกล่าวไปแล้ว  ดนตรีแจ๊สแม้จะเป็นดนตรีในวัฒนธรรมของชาวอเมริกา   แต่ชาวรัสเซียซึ่งถือว่าเป็นคนละขั้วในทางความคิดกับคนอเมริกันก็นิยมเล่นดนตรีแจ๊สเช่นเดียวกัน   ภาษาของดนตรีแจ๊สเป็น  Suddenly  Expression  การคิดแบบมีปฏิภาณเป็นสิ่งสำคัญมากในการดำรงชีวิตของคนเรา   แม้แต่ในเรื่องสามก๊ก  ขงเบ้งได้กล่าวว่า  อาจารย์บังทองผู้นี้มีความสามารถมากกว่าข้าพเจ้าถึง 10 เท่า   แต่ในเชิงของการยกย่องแน่นอนว่าผู้คนต้องยกย่องขงเบ้งมากกว่าเพราะมีปฏิภาณไหวพริบที่เหนือกว่ามาก     การจัดระเบียบของความคิดหรือกรอบความคิดจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก    ดนตรีแจ๊สกับดนตรีไทยก็มีส่วนละม้ายกันตรงที่ต้องใช้ปฏิภาณในการเล่นเหมือนกัน  ดนตรีไทยมีทำนองของฆ้องวงใหญ่เป็นหลัก   แต่ในการเล่นแต่ละเครื่องก็อาศัยการแปรทำนองไปเรื่อย ๆ   เป็นการใช้ความคิดในปัจจุบันเพื่อสร้างทำนองแปรผันไปตามความสามารถของผู้เล่น   ซึ่งอาจเปรียบเทียบเครื่องดนตรีไทยที่สร้างทำนองเช่น ระนาดเอก เหมือนกับคลาริเน็ตในวงแจ๊ส   ระนาดทุ้มเหมือนทรอมโบน  เพราะสร้างทำนองขัด ๆ หรือทำนองตลกคล้ายกัน   ฆ้องวงเล็กเหมือนเป็นเทเนอร์แซกโซโฟน   ดนตรีไทยมีการแปรทำนองลูกฆ้องตลอดเวลา  เพราะถ้าเล่นโดยจำแบบครูอย่างเดียวก็จะไม่สนุก  นี่เป็นความพิเศษของดนตรีไทยที่มีความเป็นแจ๊สมาเป็นพันปี    ดังนั้นเราต้องเล่นให้ถึงขั้นการสร้างสรรค์ (Creative)  เพราะนี่เป็นของดีของเรา  ความคิดของมนุษย์ในเรื่องปฏิภาณสร้างสรรค์จึงไม่ได้แตกต่างกันไปตามชาติและเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ



                การที่ในหลวงท่านทรงดนตรีอยู่อย่างสม่ำเสมอ  เป็นการฝึกจิตให้สามารถสั่งงานได้ทันที   นอกเหนือจากการผ่อนคลายความเครียดจากพระราชกรณียกิจตลอดทั้งวันแล้ว  ท่านก็ทรงดนตรีเพื่อเป็นการสร้างพลังจิตด้วย   ตรงกับพุทธศาสนาที่ว่าด้วยเรื่อง  สติปัตฐาน ที่แม่ชีวัดอรุณกล่าวว่า   เวลาฝึกจิต ให้นึกถึงแต่ปัจจุบัน อดีตไม่กำหนด   อนาคตไม่คิดถึง  ตามความคิดของเราให้เท่าทันในปัจจุบัน   การเล่นดนตรีแบบ  Improvisation  ก็เป็นการฝึกจิตในปัจจุบัน  ไม่สามารถวางแผนล่วงหน้าได้  เป็นการใช้งานความคิดในปัจจุบันจริง ๆ ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่ง
                ทางด้านพระราชอัจฉริยภาพทางการพระราชนิพนธ์เพลงของในหลวงนั้น  มีครบทุกแนวดนตรี  เช่น  แนวคลาสสิกก็มีเรื่อง  มโนราห์  ซึ่งเป็นดนตรีประกอบบัลเล่ท์   นอกนั้นก็เป็นแนวดนตรีแจ๊สเป็นส่วนใหญ่   เพลงพระราชนิพนธ์ของท่านทุกเพลงจะมีโครงสร้างที่สมบูรณ์แบบ  ซึ่งสามารถนำไปบรรเลงได้ทุกรูปแบบ    ถ้าจะลองวิเคราะห์โครงสร้างตามหลักทฤษฎีดนตรีจะพบว่า  โครงสร้างที่นักประพันธ์เพลงส่วนใหญ่ใช้กันจะเป็น   ABA , AABA  , ABAC , ABCB  แต่ในบทเพลงพระราชนิพนธ์จะมีโครงสร้างเพลงที่ไม่ค่อยซ้ำกัน  ซึ่งท่านได้ใส่ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ลงไปเสมอ   ดังนั้น  เมื่อท่านทรงนำเพลงพระราชนิพนธ์ไปบรรเลงร่วมกับนักดนตรีแจ๊สระดับชั้นนำของโลก  ดังที่เราเห็นได้จาก  ภาพยนตร์ส่วนพระองค์และภาพยนตร์เรื่อง  คีตราชัน   จะพบว่านักดนตรีทุกคนที่ร่วมบรรเลงพยายามใส่ความคิดสร้างสรรค์   และบรรเลงออกมาผสมเข้ากันอย่างที่เราไม่สามารถจับได้ว่า  เสียงเครื่องดนตรีไหนที่พระองค์ท่านกำลังบรรเลงอยู่   เพราะความสามารถพระองค์เทียบเท่านักดนตรีระดับโลกเหล่านั้น    คล้ายกับที่  มรว.คึกฤทธิ์   ปราโมท  กล่าวไว้ว่า  เล่นกลอนต้องฝีปากเสมอกันถึงจะเพราะ
                เพลงพระราชนิพนธ์ที่มีเนื้อเพลงก่อนแล้วมีทำนองตามมามีหลังจะมีน้อยเพลง    เช่น  เราสู้  (เนื้อร้องโดย  สมภพ  จันทรประภา) ,  รัก  (เนื้อร้องโดย  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ) ,  ความฝันอันสูงสุด (เนื้อร้องโดย  ท่านผู้หญิงมณีรัตน์   บุญนาค)  นอกนั้นจะเป็นเพลงที่มีทำนองก่อนแล้วประพันธ์เนื้อเพลงทีหลัง  การที่ท่านทรงพระราชนิพนธ์ทำนองหลังจากมีเนื้อร้องเกิดขึ้นก่อนนั้นเป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้เพลงไพเราะ   เนื่องด้วยทำนองจะถูกอักขรคอยกำกับอยู่   แต่ท่านก็ทรงพระราชนิพนธ์ได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยการใช้ปฏิภาณ  อย่างเพลงรัก  ที่ท่านทรงเป่าแซกโซโฟน  ในขณะที่ทอดพระเนตรเนื้อร้องไปด้วย   แล้วให้อาจารย์แมนรัตน์   ศรีกรานนท์  เป็นผู้ถอดโน้ตออกมา  นี่เป็นพระราชอัจฉริยภาพที่น้อยคนนักจะรู้เรื่องนี้


 โดย อาจารย์สันทัด  ตัณฑนันทน์     สรุปคำบรรยายโดย ประพันธ์ศักดิ์  พุ่มอินทร์
(หากมีความประสงค์นำบทความเพื่อการเผยแพร่ กรุณาอ้างถึง อาจารย์สันทัด  ตัณฑนันทน์  เป็นผู้บรรยายด้วย)

ก่อนจะเป็นดนตรีร่วมสมัย

ก่อนจะเป็นดนตรีร่วมสมัย




ดนตรี เป็นศาสตร์แห่งเสียง เป็นสุนทรียศาสตร์แขนงหนึ่งที่อยู่คู่กับมนุษยชาติมาทุกยุคทุกสมัย นับตั้งแต่มนุษย์ได้รู้จักการสื่อสารด้วยวิธีการต่าง ๆ ดนตรีนับเป็นภาษาสำหรับการสื่อสารในเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงอารมณ์ การแสดงความเป็นพวกเดียวกัน การอ้อนวอนเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย การแสดงความสุข ความทุกข์ ฯลฯ แม้ในปัจจุบันดนตรีมีวิวัฒนาการมาตามยุคสมัย ตามลำดับ แต่หน้าที่พื้นฐานของดนตรีก็ยังคงไม่ต่างไปจากเมื่อหลายพันปีที่แล้ว ดนตรียังคงเป็นเครื่องมือแสดงอารยธรรมของมนุษย์ต่อไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด ดังที่ ศักดิ์ชัย หิรัญรักษ์ (2547: 19) ให้ความเห็นว่า เมื่อเราหันมาพิจารณาว่า ดนตรีถูกสร้างขึ้นมาทำไม จะพบว่าดนตรีถูกสร้างขึ้นมารับใช้มนุษย์ในหลายบทบาทหลายหน้าที่ และหน้าที่หนึ่งที่ดนตรีถูกสร้างขึ้นมาก็เพื่อนำเสนอในรูปแบบของอารมณ์ ความรู้สึก งานศิลปะช่วยให้มนุษย์สามารถแสดงออก ถ่ายทอดความรู้สึก ความนึกคิด และดนตรีก็เป็นศิลปะชั้นสูงสุดที่อยู่ในรูปของนามธรรมอันไร้ขอบเขตข้อจำกัดที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมา
ยุคสมัยต่าง ๆ เป็นตัวแบ่งเหตุการณ์ต่าง ๆ บนโลก โดยเริ่มต้นตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ สมัยอารยธรรมโบราณ สมัยต้นและกลางคริสต์ศตวรรษ สมัยบาโรค สมัยคลาสสิค สมัยโรแมนติค และสมัยปัจจุบัน การดนตรีในยุคต่าง ๆ ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถบ่งบอกได้ว่ามาจากยุคใดและมีบทบาทอย่างไร ดังที่ ละเอียด เหราปัตย์ (2522: 1) กล่าวว่า ดนตรีในสมัยดึกดำบรรพ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์มากกว่าในสมัยปัจจุบัน เป็นการแสดงออกถึงจิตวิทยา สังคม ศาสนา สิ่งสักการะบูชา และภาษา เพลงทุกเพลงในสมัยดั้งเดิมจะต้องมีความหมายทั้งสิ้น การจะเข้าใจในเพลงนั้น ๆ อย่างถูกต้องแท้จริงจะต้องไปศึกษาจากชาวพื้นเมืองที่เป็นเจ้าของบทเพลงนั้น ดนตรีสมัยดึกดำบรรพ์มีหน้าที่ 2 ประการสำคัญ คือ (1) ก่อให้เกิดความตื่นเต้น เร้าใจ (2) ทำให้เกิดความผ่อนคลาย ความสุข
ต่อมาในอารยธรรมโบราณ (Ancient Civilization) ความเจริญของโลกมีอยู่ในภูมิภาคตะวันออก ชาติที่มีความเจริญทางด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น จีน ไทย อินเดีย ฯลฯ และภูมิภาคยุโรปตะวันออก เช่น อียิปต์ ซุเมอร์ บาบิโลเนียน จูเดีย และกรีก ดนตรีทั้งในเอเซีย และยุโรปตะวันออก ได้เริ่มมีวิวัฒนการขึ้น โดยมีการคิดค้นบันไดเสียงเพื่อแบ่งแยก จัดระบบเสียงเป็นของแต่ละชนชาติขึ้นมา เอกลักษณ์นี้ยังคงมีร่องรอยอยู่ในยุคปัจจุบัน เช่น บันไดเสียงเพนทาโทนิค (Pentatonic Scale) ก็ยังคงมีใช้กันในดนตรีภูมิภาคเอเซีย แต่มีความแตกต่างไปในสำเนียงและการจัดระบบเสียง ดนตรีกรีกโบราณ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมดนตรีของดนตรีตะวันตกที่ยิ่งใหญ่ คือ เมื่อประมาณ 1000 ปีก่อนคริสตกาล มีการคิดค้นการแบ่งระบบเสียงอย่างชัดเจนด้วยแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ โดยนักปราชญ์กรีก คือ พิธากอรัส และมีการคิดเรื่องเครื่องดนตรีประกอบการร้อง มีการใช้เทคนิคการประพันธ์เพลงโดยใช้ Mode ซึ่งมีที่มาจากระบบเตตร้าคอร์ด (Tetrachord) ก่อให้เกิดบันไดเสียงโบราณต่างๆ เป็นปัจจัยพื้นฐานของการดนตรีในยุคต่อ ๆ มา
จากความเชื่อในเรื่องคริสตศาสนา ก็ให้เกิดยุคทางดนตรีที่สำคัญ คือ ยุคเพลงสวด (Plainsong) ประสิทธิ์ เลียวสิริพงศ์ ( 2533: 8-9) ได้กล่าวว่า ยุคนี้มีช่วงเวลาประมาณ ค.ศ. 200-800 และการดนตรียุคนี้ได้รับอิทธิพลมาจากแหล่งสำคัญ 3 แห่ง คือ ไบแซนไทล์ (Byzantine) ในเอเชียไมเนอร์ , แหล่งต่อมาคือ ซีเรีย (Syria) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันในสมัยนั้น และแหล่งที่ 3 คือ เพลงสวดของชาวฮีบูรว์ (Hebrew) ในปาเลสไตน์ จากการศึกษาความนิยมของบทเพลงสวดในยุคเพลง พบว่าเพลงสวดแบบ เกรกอเรียน ชานต์ (Gregorian chant) ซึ่งเรียกชื่อตามองค์สันตะปาปา Gregory the Great มีอิทธิพลต่อดนตรีในยุคต่อมามาก การใช้บันไดเสียงเพื่อการประพันธ์เพลงมีการใช้ Mode อย่างเด่นชัด และมีนอกเหนือจากการใช้ Mode ทางบันไดเสียงแล้ว ยังมีการใช้ Mode ของจังหวะด้วย เพื่อเป็นรูปแบบของการวางเนื้อเพลง และสร้างทำนองขึ้น จุดเปลี่ยนของการดนตรีได้เกิดขึ้นอีกครั้งในยุคกลาง (Middle Ages) ค.ศ. 800-1400 จากการพัฒนาของเพลงสวดแนวเดียว สู่เพลงสวด 2 แนว โดยมีการใช้ขั้นคู่เข้ามาในการประสานเสียง เรียกว่า ออร์แกนนุม (Organum) และเนื่องจากมีนักดนตรีอิสระจำพวกหนึ่งที่ไม่ได้เล่นดนตรีรับใช้พระเจ้า ได้ตั้งกลุ่มเล่นดนตรีโดยเร่ร่อนแพร่ขยายวัฒนธรรมการดนตรีไปทั่วภูมิภาคยุโรป จึงเกิดเป็นดนตรีฆราวาส (Secular Music) ขึ้น จากจุดนี้ชี้ให้เห็นว่าดนตรีได้แปรเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับใช้ศาสนา มาสู่การรับใช้คนในสังคม และทำให้เกิดรสนิยมทางการดนตรีในยุโรปที่พระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านายสูงศักดิ์ ต้องมีวงดนตรีไว้ประจำราชวัง เพื่อประดับบารมีหรือเพื่อความบันเทิงในยุคต่อ ๆมา
ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) ค.ศ. 1400-1600 ได้มีความเชื่อว่าอารยธรรมตนเป็นตัวแทนของการเกิดใหม่ ดังนั้นทัศนคติต่อการดำรงชิวิตจึงมีความแตกต่างไปจากยุคกลาง ดังที่ ศศี พงศ์สรายุทธ (2544 : 47) ให้ความเห็นว่า ทัศนะการมองโลกของคนในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการเป็นผลมาจาก (1) การศึกษาและการพิมพ์ขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ. 1440 ทำให้เกิดการแพร่กระจายวิชาแขนงต่าง ๆ (2) มีการคิดค้นดินปืนและทำลายระบบอัศวิน (3) เริ่มมีเข็มทิศเกิดขึ้น ทำให้มนุษย์ท่องเที่ยวโลกได้กว้างขวาง ความเชื่อเรื่องการดำรงชีวิต คือ การอยู่กับปัจจุบันอย่างมีเหตุผล การดนตรีในยุคนี้จึงมีแนวโน้มที่จะรับใช้สังคมมนุษย์มากกว่าศาสนา พิชัย วาสนาส่ง (2546: 42-43) ได้ให้แนวความคิดอย่างสนใจว่า ดนตรีคลาสสิกเริ่มเกิดขึ้นในสมัยบาโรก (Baroque) ซึ่งเกิดขึ้นระหว่าง คริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 โดยคริสต์ศาสนามีบทบาทสำคัญเชื่อมโยงพลังทางงานศิลป์ให้มีความอลังการในทุกแขนง การประดับประดาอาคาร สถาปัตยกรรมที่งดงามวิจิตร เหล่านี้ย่อมส่งผลต่องานประพันธ์ดนตรีด้วย ดุริยกวี เช่น คลอดิโอ มอนเตเวร์ดี โดเมนิโค สคาร์ลาตตี วิวาลดี ได้สร้างรากฐานชิ้นงานคีตนิพนธ์ต่าง ๆ มากมาย ทั้งในเชิงของทฤษฎีการดนตรีที่มีรูปแบบของ Tonal Music อย่างชัดเจน
รูปแบบการประพันธ์เพลงที่มีแบบแผนเฉพาะ ขีดจำกัดของเครื่องดนตรีได้ขยายขอบเขตขึ้น เช่น เครื่องสายตระกูลไวโอลิน พัฒนาถึงจุดสุดยอดสามารถรองรับบทประพันธ์ที่มีความซับซ้อนได้ อีกมุมมองหนึ่งระบบอุปถัมภ์ช่วยให้ความเจริญก้าวหน้าของศิลปะเป็นไปได้อย่างกว้างขวาง ผู้มีความรู้ความสามารถได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ถ้าเราพิจารณาตามที่ พิชัย วาสนาส่ง ได้กล่าวไว้ข้างต้น ดนตรีคลาสสิกในนัยความหมายของท่าน คือ ดนตรีที่มีรูปแบบการประพันธ์ที่แน่นอน มีระเบียบ ข้อกำหนด ทฤษฎีอย่างชัดเจน ซึ่งในก่อนหน้ายุคบาโรกยังไม่มีเอกลักษณ์เด่นชัดเท่า ดังนั้น ความเป็นดนตรีคลาสสิกจึงกินขอบเขตของยุคบาโรกเรื่อยมาสู่ยุคคลาสสิก ซึ่งมี ไฮเดิน (Haydn) เป็นผู้บุกเบิกแนวทาง และสานุศิษย์อย่าง โมซาร์ท (Mozart) และ บีโธเฟ่น (Beethoven) ได้ยึดถือปฏิบัติในงานประพันธ์ของตนเอง แต่วิธีการประพันธ์เพลงแตกต่างจากยุคบาโรก ดังที่ ประสิทธิ์ เลียวสิริพงศ์(2533: 67) กล่าวว่า ดนตรีคลาสสิกยุคต้นนั้น เน้นการประสานเสียงที่ให้ Texture แบบ homophony แทน counterpoint และมีเทคนิคของแนวเบสแบบใหม่ที่เรียกว่า Alberti Bass เข้ามาแทนที่ Basso Continuo ทางด้านเครื่องดนตรีก็มีการพัฒนาแตกต่างไปจากเดิม เช่น เกิด Pianoforte , เครื่องเป่ามีกลไกกระเดื่องทำงานได้ดีขึ้น การประสมวงดนตรีจึงเปลี่ยนแปลงไป
ยุคสุดท้ายที่จะได้กล่าวในบทนำนี้ คือ ยุคโรแมนติค (Roamntic Period) ช่วงเวลา ค.ศ. 1820 – 1900 ซึ่งตามประวัติศาสตร์ดนตรีตะวันตก ในยุคโรแมนติคนี้เกิดมีคีตกวีมากมาย ทั้งบทเพลงก็มีรูปแบบการประพันธ์ที่วิวัฒน์มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางด้านเสียงประสานและเทคนิคก็ให้เกิดความเข้มข้นของอารมณ์เพลงอย่างยิ่ง ดนตรีได้เป็นเครื่องมือเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกภายในของมนุษย์อย่างชัดเจน แม้ดนตรีเกี่ยวกับศาสนายังมีอยู่ แต่ก็มีบทบาทลดลงเมื่อเทียบกับดนตรีเพื่อมวลชน มีหลายคนเข้าใจผิดว่า ดนตรีโรแมนติคต้องเกี่ยวข้องกับอารมณ์รักใคร่ อ่อนหวาน หรือรุนแรง อย่างเดียว แต่หากที่จริงแล้ว ดนตรีในยุคโรแมนติคมีความหลากหลายทางแนวคิดอย่างมาก ตัวอย่าง เช่น ดนตรีชาตินิยม (Nationalism) ของซีเบลิอุส (Sibelius) ที่มีชื่อว่า ฟินแลนด์เดีย (Finlandia) ดังที่ ไพบูลย์ กิจสวัสดิ์ (2535 : 240-241) ให้ความเห็นว่า ฟินแลนด์เดีย เป็นงานซิมโฟนิคโพเอ็ม ที่มีความสำคัญเป็นสัญลักษณ์แห่งชาตินิยมของชาวฟินแลนด์ เพราะความรุนแรงของบทเพลงทำให้ทางการรัสเซียต้องสั่งห้ามนำออกแสดงในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1899 น่าแปลกที่บทเพลงนี้ไม่ได้มีคำร้องเนื้อร้องประการใด แต่ความเข้มข้นของบทเพลงสามารถตรึงใจผู้ฟังให้เกิดความรู้สึกเลือดรักชาติได้ ในขณะเดียวกันดนตรีบางประเภทงานประพันธ์กลับตรงกันข้าม เช่น โยฮัน สเตร้าส์ (ลูก) (Johann Strauss II) ที่สร้างสรรค์ดนตรีประเภทเพลงเต้นรำจังหวะ Waltz จนกล่าวได้ว่า เป็นประเภทของ Vienna Waltz ซึ่งแสดงถึงความรื่นรมย์ ไม่มีความเศร้าโศกในบทเพลงเลย นี่เป็นความหลากหลายของความเป็นดนตรีโรแมนติคที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง
ดนตรีร่วมสมัย คือ อะไร คำนิยามของ การร่วมสมัย คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ช่วงขณะเดียวกันในโลกนี้แต่ละที่แต่ละแห่งบนพืนโลกกำลังทำกิจกรรมอะไร กำลังดำรงชีวิตอยู่อย่างไร นั่นคือ การร่วมสมัย กิจกรรมบางอย่างอาจจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และยังยืดถือปฏิบัติดำรงอยู่ เช่น ศาสนา ประเพณี ในขณะที่บางอย่างเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ เช่น แฟชั่นการแต่งกาย เทคโนโลยีต่าง ๆ ดังนั้นมนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความหลายหลาก โลกยุคนี้กล่าวได้ว่าเป็นยุคแห่งข่าวสารและการศึกษาตลอดชีวิต เราจึงควรต้องแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อจะได้เข้าใจและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง แนวความคิดเรื่อง ดนตรีร่วมสมัย อาจนิยามได้โดยอนุมานกับการร่วมสมัยของสิ่งอื่น ๆ เช่น วัฒนธรรม ประเพณี การดำรงชีวิต ดังที่ Mark Slobin และ Jeff Todd Tition อ้างถึงใน อรวรรณ บรรจงศิลป (2547 : 70) กล่าวว่า วัฒนธรรมทางดนตรีเปรียบเสมือนโลกของดนตรี ทุกสังคมมนุษย์มีดนตรี แต่ดนตรีมิใช่ Universal เพราะดนตรีในความหมายของคนแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกัน วัฒนธรรมทางดนตรีประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 อย่าง ซึ่งมีความสัมพันธ์กันได้แก่
1. แนวความคิดเกี่ยวกับดนตรี
      1.1 ดนตรีและระบบความเชื่อ ความเชื่อทางศาสนา ความเชื่อว่าดนตรีมี ประโยชน์หรือมีโทษ ความเข้าใจหรือความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมในแต่ละกลุ่มชน
      1.2 สุนทรีย์ทางดนตรี คนแต่ละคนมีความเข้าใจเรื่องสุนทรียศาสตร์ไม่เหมือนกัน แม้ว่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน เช่น นักร้องคลาสสิก ไม่เข้าใจว่านักร้องแจ๊สมีความไพเราะอย่างไร
      1.3 สภาพแวดล้อมทางดนตรี ความเจริญทางสังคมและเทคโนโลยี ก่อให้เกิดสภาพ แวดล้อมใหม่ แม้แต่ดนตรีก็ถูกสร้างสภาพแวดล้อมได้เช่นเดียวกัน เช่น ดนตรีธุรกิจ ที่เปิดตลอดเวลาไม่ว่า โทรทัศน์ วิทยุ ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ย่อมทำให้คนในสังคมนั้นอยู่ในสภาพแวดล้อมดนตรีที่ถูกสร้างขึ้นตลอดเวลา
2. ระบบสังคมทางดนตรี ดนตรีไม่ใช่เครื่องแบ่งชนชั้น แต่สังคมและมนุษย์ต่างหากที่แบ่ง ชนชั้นทางดนตรี เช่น กลุ่มคนทำงาน ก็จะร้องเล่นแต่เพลงที่พวกเขาชอบ คนที่มีการศึกษาสูงก็นิยมเพลงดนตรีอีกประเภทหนึ่ง
3. บทเพลงสำหรับแสดง
       3.1 สไตล์ของดนตรี (Style) คือ องค์รวมอันได้แก่ ระดับเสียง ทำนอง จังหวะ และการประสานเสียง
       3.2 ประเภทของเพลง (Qunres) คือ ชื่อต่าง ๆ ที่จัดกลุ่มให้บทเพลง เช่น เพลง สรรเสริญ (ตัวอย่างเช่น เพลง Chantsong , เพลง Praise song) เพลงเต้นรำ (เช่น Waltz , Tango )
      3.3 คำร้อง (Texts) เกิดจากความสัมพันธ์ของภาษากับดนตรี เพลงร้องสามารถสื่อเข้า ไปในจิตใจได้โดยตรงกับผู้ที่เข้าใจภาษานั้น ๆ
       3.4 การแต่งเพลง (Composition) เพลงทุกเพลงล้วนแต่งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ ทั้งสิ้น การแต่งอาจแบ่งได้ 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ การแต่งอยู่ในกรอบ (Variation) และการแต่งแบบอิสระทันที (Improvisation ) ความสำคัญประการหนึ่งของการแต่งเพลง คือ การจัดระเบียบสังคม เพราะเพลงสะท้อนถึงแนวความคิดของคนในสังคมนั้น
      3.5 การถ่ายทอด (Transmission) ตระกูลนักดนตรีมักถูกถ่ายทอดมาด้วยการดูตัวอย่าง และเลียนแบบ (Oral Tradition) ส่วนดนตรีในระบบการศึกษาถ่ายทอดด้วยการเรียนรู้อย่างเป็นแบบแผน
      3.6 การเคลื่อนไหวร่างกายประกอบดนตรี (Movement) ดนตรีก็ให้เกิดการ เคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นดนตรีชนิดหยาบที่สุดหรือละเอียดที่สุดก็ตาม ไม่สามารถแยกการเคลื่อนไหวร่างกายมนุษย์ออกจากดนตรีได้
4. วัฒนธรรมทางด้านวัสดุของดนตรี วัสดุดนตรี คือ สิ่งที่ถูกจับต้องได้ทุกอย่าง ไม่ว่า จะ เป็นเครื่องดนตรี หรือเอกสาร รวมถึงการปฏิวัติของข้อมูล (Information Revolution) ในศตวรรษที่ 20 ด้วย
 องค์ประกอบทั้ง 4 ของวัฒนธรรมดนตรีที่กล่าวมานี้ เป็นการอธิบายคำจำกัดความของดนตรีร่วมสมัยได้ชัดเจนขึ้น แม้ดนตรีทุกวันนี้มีความเปลี่ยนแปลงขึ้นทุกวัน มีการผสมผสานเพื่อสร้างสิ่งใหม่ การอนุรักษ์ดนตรีดั้งเดิม การนำเสนอรูปแบบดนตรีในลักษณะใหม่ การสร้างระเบียบวีธีการทางดนตรีใหม่ ฯลฯ ความพยายามทั้งหลายเหล่านี้มิได้ทำให้ดนตรีมีหน้าที่หรือบทบาทใหม่ขึ้นแต่ประการใด แต่หากกับชี้ตัวตนที่แท้จริงของดนตรีให้ชัดเจนมากขึ้นอีก

หนังสืออ้างอิง

ประสิทธิ์ เลียวสิริพงศ์.(2538). ประวัติดนตรีตะวันตกโดยสังเขป. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: จงเจริญการพิมพ์
__________________. (2545). ปทานุกรมดนตรีสากล.(พิมพ์ครั้งที่ 1). เชียงใหม่ : เชียงใหม่โรงพิมพ์ แสงศิลป์.
พิชัย วาสนาส่ง. (2547). เพลงเพลินใจ. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพฯ.
ไพบูลย์ กิจสวัสดิ์.(2535). คีตกวี ปรัชญาเมธีแห่งภาษาสากล. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ:วัชระออฟเซ็ท.
ละเอียด เหราปัตย์. (2522). วิวัฒนาการของดนตรีสากล. กรุงเทพฯ.
ศักดิ์ชัย หิรัญรักษ์.(2547). ดนตรีเป็นวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาด้านสติปัญญาทางอารมณ์. วารสารเพลง ดนตรี , 10(6) , 19.
ศศี พงษ์สรายุทธ.(2544). ประวัติและวรรณคดีดนตรีตะวันตก. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ.
อรวรรณ บรรจงศิลป์. (2547). แนวความคิดเกี่ยวกับดนตรี. วารสารเพลงดนตรี.10(6) , 70-73.


โดย  ประพันธ์ศักดิ์   พุ่มอินทร์

บทบาทของดนตรีที่มีต่อสังคม

บทบาทของดนตรีที่มีต่อสังคม

ดนตรีเกิดขึ้นมาในโลกพร้อมๆ กับมนุษย์เรานั่นเอง ในยุคแรกๆ มนุษย์เรายังอาศัยอยู่ในป่าดง ในถ้ำ แม้ในโพรงไม้ก็รู้จักการร้องรำทำเพลงตามธรรมชาติ เช่นรู้จักการปรบมือ เคาะหิน เคาะไม้ เป่า ปาก เป่าเขา เป็นต้น พร้อมกันนั้นก็มีการเปล่งเสียงร้องออกมาตามเรื่อง การร้องรำทำเพลงของมนุษย์ ในยุคนั้นก็ทำไปเพื่ออ้อนวอนพระเจ้า เพื่อช่วยให้ตนพ้นภัย บันดาลความสุขความอุดมสมบูรณ์ต่างๆ ให้แก่ตน หรือเพื่อเป็นการบูชา แสดงความขอบคุณพระเจ้าที่บันดาลให้ตนมีความสุขความสบาย
โลกได้ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย ดนตรีก็ได้วิวัฒนาการไปตามความเจริญ และความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ เครื่องดนตรีในสมัยเริ่มแรกที่เคยใช้ก็ได้วิวัฒนาการมาเป็นขั้นๆ กลายเป็นเครื่องดนตรี ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ เพลงที่เคยร้องเพื่ออ้อนวอนพระเจ้า ก็กลายมาเป็นเพลงสวดทางศาสนาและ เพลงร้องโดยทั่วๆ ไปเป็นต้น
ในระยะแรกๆ นั้นดนตรีมีอยู่เพียงเสียงเดียวและแนวเดียวเท่านั้นเรียกว่า Melody ไม่มีการประสานเสียง เวลาผ่านไปหลายศตวรรษ จนถึงศตวรรษที่ 12 มนุษย์เราจึงเริ่มรู้จักใช้เสียงต่างๆ มาประสานกันอย่างง่ายๆ เกิดเป็นดนตรีหลายๆ เสียงขึ้นมา
นับแต่นั้นเป็นต้นมา นักปราชญ์ทางดนตรีได้แบ่งดนตรีออกเป็นยุคต่างๆ ดังนี้
1.Polyphonic Period (ค.ศ. 1200-1650) ยุคนี้นับว่าเป็นยุคแรกและได้วิวัฒนาการมาเรื่อยๆ จนมีแบบฉบับและหลักวิชาการดนตรีขึ้น มีวงดนตรีอาชีพ ตามโบสถ์ ตามบ้านเจ้านาย และมีโรงเรียนสอนดนตรี
2.Baroque Period (ค.ศ.1650-1750) ยุคนี้วิชาดนตรีได้เป็นปึกแผ่นมีแบบแผนความเจริญทางด้านนาฏดุริยางค์ (Dramatic Music) มีมากขึ้น ยุคนี้มีโรงเรียนสอนเกี่ยวกับอุปรากร (Opera) เกิดขึ้น มีนักดนตรีเอกของโลก 2 ท่าน เป็นผู้นำในยุคนี้ คือ J.S.Bach และ G.F.Handel.
3.Classical Period (ค.ศ. 1750-1820) ยุคนี้เป็นยุคที่ดนตรีเริ่มเข้าสู่ยุคใหม่ มีความรุ่งเรืองมากขึ้น มีนักดนตรีเอกของโลก 3 ท่าน เป็นผู้นำยุคนี้คือ Haydn Gluck และ Mozart
4.Romantic Period (ค.ศ. 1820-1900) ยุคนี้มีการใช้เสียงดนตรีที่เน้นถึงอารมณ์อย่างเด่นชัด มี Beethoven และยังมีนักดนตรีเอกของโลกคนอื่นๆ อีก เช่น Schubert Mendelssohn, Schumann, Chopin, Paganini, Liszt, Brahms และ Wagner เป็นต้น ยุคนี้เป็นยุคที่ดนตรีเจริญถึงขีดสุด นับเป็น "ยุคทองของดนตรี"
5.Modern Period (ค.ศ. 1900-ปัจจุบัน) ยุคนี้เป็นยุคที่ดนตรีเปลี่ยนแปลงไปมากดนตรีประเภทแจ๊ส (Jazz) กลับมามีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน
ประโยชน์ของดนตรี
ร่างกายของมนุษย์เราเจริญเติบโตได้ด้วยอาหาร นอกจากคนเราจะรับประทานอาหารทางปากแล้ว ยังต้องการอาหารทางหู ทางตา ทางใจ และทางสมองอีก ศิลปะการดนตรีและการละครเป็นอาหารของหูและตา วรรณคดีและศาสนาเป็นอาหารทางใจและสมอง อาหารเป็นสิ่งจำเป็นและมีประโยชน์ต่อร่างการ ศิลปะของการดนตรีและ ละครก็เป็นประโยชน์ก่อให้เกิดความรื่นเริงบันเทิงใจ ขัดเกลาจิตใจให้ผ่องใสเกิดความสามัคคี และเพื่อการพักผ่อนในเมื่อร่างกาย และสมองได้รับความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการทำงาน คนเราทุกคนมีความเป็นนักดนตรีอยู่ในตนเอง บางคนแม้ไม่สามารถ เล่นดนตรีหรือร้องเพลงได้ ก็ยังชอบฟังและชอบดูศิลปะการดนตรีและละครมีความสำคัญไม่น้อยกว่าศิลปะประเภทอื่น เป็นรากฐานแสดงถึงความเจริญของประเทศชาติทางหนึ่ง คือเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องส่งเสริมให้ดำรงสืบต่อไป ศิลปะประเภทนี้ต้องใช้เวลาสั่งสอนอบรมกันมาก หากไม่มีการถ่ายทอดสืบต่อกันอาจจะเสื่อมสูญไปได้ การดนตรีและละครของไทย เป็นสมบัติอันมีค่าของชาติ เป็นสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงอุปนิสัยใจคอของคนไทยได้ว่า คนไทยหรือชาติไทยเป็นชาติที่มีอารมณ์เบิกบาน มีความกรุณากล้าหาญอันจะสังเกตได้จากศิลปะการดนตรีและละคร ซึ่งดำเนินไปด้วยความอ่อนโยนและนิ่มนวล การที่เราได้ฟังเพลงเกิดความรู้สึกคึกคักร่าเริง จะเป็นเพลงชาติใดภาษาใดก็ตาม เหล่านี้เกิดจากศิลปะของการดนตรีทั้งสิ้น นักประพันธ์เพลงจะต้องถือกฎเกณฑ์อันเป็นระเบียบ มีวิธีแต่งและวิธีบรรเลงอย่างมี หลักเกณฑ์รวมทั้งฝีมือของผู้บรรเลงด้วย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจและเกิดความชำนิชำนาญเสียก่อน ใน สมัยก่อน ความเจริญ และความเสื่อมของศิลปะ อยู่ที่ความร่มเย็นเป็นสุขของบ้านเมือง ในเวลาบ้านเมืองสงบ ศิลปะทั้งปวงก็ เจริญรุ่งเรือง และได้รับการส่งเสริมจากประมุขของประเทศ เจ้านาย และประชาชนร่วมมือกัน และเมื่อมีผู้อุปถัมภ์ค้ำชู ผู้ที่มีฝีมือ และความคิดก็พยายามขวนขวาย ทำการเผยแพร่ด้วยการสั่งสอนศิษย์และผู้สนใจมากมาย ในปัจจุบันศิลปะทางดนตรีและละครต่างประเทศกำลังแพร่หลายติดต่อและเปลี่ยนกันไปทั่วโลกคนไทยนิยมกันมาก อย่างไรก็ตามการนิยมยกย่องศิลปะอันเป็นศิลปะสากลนั้น ถ้านิยมด้วยความเข้าใจก็ไม่เสียหายอะไร การรับเอาของ ใหม่ที่ดีก็เป็นการสมควร แต่พร้อมกันนั้นก็ต้องช่วยกันรักษาศิลปะประจำชาติไว้ด้วย
การรู้จักฟังดนตรีด้วยความนิยมและรู้สึกซาบซึ้งในรสของเพลงนั้น มีประโยชน์สำหรับชีวิตอย่างมาก คือ ในชีวิต ประจำวัน ดนตรีมีประโยชน์ในการผ่อนคลายอารมณ์ ในเวลาที่รู้สึกเคร่งเครียดหรือเร่าร้อนด้วยโทสะ ดนตรีก็ช่วยชโลมใจ ให้เย็นลง เป็นเพื่อนในเวลาเหงา กระตุ้นให้รู้สึกคึกคักกล้าหาญในเวลาที่หวาดกลัวภัย อาหารมีประโยชน์ทางกายฉันใด ดนตรีก็มีประโยชน์ทางใจฉันนั้น เพราะเมื่อเราได้ฟังเพลงที่ไพเราะ เรารู้สึกซาบซึ้งและอิ่มอกอิ่มใจ เช่นเดียวกับ เมื่อเราเห็นสิ่งที่สวยงามทำให้ชีวิตมีความสดชื่น คุณค่าของดนตรีอีกประการหนึ่งก็คือ ดนตรีเป็นภาษานานาชาติ เข้าใจกันได้ไม่เลือกเชื้อชาติเป็นสื่อกลางสำหรับความสัมพันธ์ ความเข้าใจอันดีต่อกัน ของมวลมนุษย์ทั่วโลก ไม่แบ่งอายุ ไม่แบ่งชั้นวรรณะ และเชื้อชาติ ดังจะเห็นได้จาก การบรรเลงดนตรี ร่วมวงกันระหว่างนานาชาติซึ่งพูดกันคนละภาษาแต่ภาษาดนตรีนั้นทุกคนเข้าใจ ดนตรีแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และที่สำคัญยิ่งคือในโลกของดนตรีนั้นเป็นโลกแห่งความสันติ ศิลปะการดนตรีเป็นส่วนสำคัญยิ่งส่วนหนึ่งแห่งความเป็นอยู่ของ อารยชนในด้านความรู้และความบันเทิงอันสูงค่า เป็นขนบธรรมเนียมที่สร้างขึ้น เป็นการวางรากฐานแห่งความเจริญ และเป็นสิ่งแสดงถึงวัฒนธรรม อันเป็นสมบัติของและชาติด้วย


บทบาทหน้าที่ของดนตรี
ดนตรีเปรียบเสมือนเป็นพื้นฐานของสังคม ซึ่งมันสามารถอธิบายถึงปรากฏการณ์ทาง
สังคมการเมืองและวัฒนธรรมได้ บางครั้งสังคมอาจไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ลงไปสู่ดนตรีโดยตรงทั้งหมด แต่ดนตรีมักถูกใส่ลงไปในสังคมเพื่อสร้างพลังบางอย่างให้กับกลุ่มชนต่าง ๆ เพื่อสร้างความสำนึกให้เกิดขึ้น กล่าวได้ว่าสังคมนั้นมีส่วนที่ทำให้เราเข้าใจดนตรีมากขึ้น ทำให้เรารำลึกถึงมุมมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งๆ เช่น มุมมองของความสำเร็จ มุมมองของข้อผิดพลาด หรือมุมมองของข้อผิดพลาดที่ลึกซึ้ง และอื่น ๆ เป็นต้น
ดนตรีหรือบทเพลงคือการบันทึกภาพทางประวัติศาสตร์ที่สามารถสะท้อนเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆทางสังคม หรือสะท้อนแนวคิดอุดมการณ์ในแต่ละยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง เช่น การนำเอาดนตรีและบทเพลงมาใช้เพื่อเป็นสื่ออำนาจของกลุ่มชนในการต่อสู้เพื่อแย่งชิงพื้นที่ทางสังคมวัฒนธรรม ในที่นี้หมายถึงดนตรีที่นำไปใช้กับการเมือง ซึ่งเป็นมุมมองทางดนตรีที่ทำหน้าที่ต่อสังคมและการเมือง ทั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นถ้านำมาวิเคราะห์ลงไปอย่างลึกซึ้งก็จะพบถึงวิธีคิด สาระ ตลอดจนภาพสะท้อนต่าง ๆ ในสังคมที่มีการเชื่อมโยงมิติสัมพันธ์หลาย ๆ ด้าน บางครั้งทำให้เราสามารถนำกลับมาทบทวนและกำหนดแนวคิดเชิงปรัชญาทางดนตรีใหม่เพื่อนำมาใช้กับการเมืองได้

ดนตรีกับสื่อทางความคิด
ดนตรีหรือบทเพลงนั้นถือได้ว่าเป็นภาษาแห่งอารมณ์ ซึ่งนักแต่งเพลงได้พยายามกระตุ้นออกมาเป็นเสียงเพลง มีทั้งที่จงใจกระตุ้นและที่เกิดจากประสบการณ์ของตนเองซึ่งเพลงเป็นสื่อกลางในการติดต่อ และการทำความเข้าใจกันระหว่างมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุด เพลงจึงเป็นภาษาหรือเครื่องมือที่สำคัญของมนุษย์ในการสื่อความคิดต่อกัน ซึ่งการสื่อความคิดนี้จะมี ๒ ลักษณะคือ
1) การสื่อความคิดในเรื่องที่เป็นความจริง ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ การสื่อความคิดประเภทนี้ไม่ก่อให้เกิดปัญหาถกเถียงมากนัก เนื่องจากเป็นการอธิบายปรากฏการณ์ที่เป็นจริงด้วยเหตุผลและสามารถพิสูจน์ได้
2) การสื่อความคิดในเรื่องที่เกี่ยวกับคุณค่าต่างๆ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดการยอมรับในคุณค่าเหล่านั้นได้ การสื่อความคิดประเภทนี้ก็คือ การชักจูงให้คล้อยตาม ซึ่งก็หมายถึงเพลงประเภทปลุกใจซึ่งมีใช้กันอยู่ในทุกสังคมมนุษย์นั่นเอง
จากแนวคิดของ David J.Elliott นักปรัชญาดนตรี ได้ให้มุมมองของกระบวนการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับการฟังไว้ว่า การฟังและกระบวนการรับรู้เป็นกระบวนการที่ไม่เป็นอิสระ ซึ่งมันจำเป็นต้องไปเกี่ยวข้องกับบริบทของความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการได้ยิน ซึ่งสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมันเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน และในการรับข้อมูลเกี่ยวกับการฟังของมนุษย์นั้นมีข้อจำกัด เราไม่สามารถรับรู้ข้อมูลทุกสิ่งทุกอย่างได้ในการฟังครั้งเดียว การฟังและการรับรู้ของมนุษย์นั้นมีขอบเขตจำกัด แต่ในความเป็นจริงสมองของมนุษย์สามารถรับเสียงได้ทุกเสียง สมองของมนุษย์ไม่ได้ทำงานทีละภาคส่วน แต่ทุกส่วนของสมองทำงานพร้อมกัน ดังนั้นขณะที่มนุษย์กำลังรับรู้ถึงกระบวนการฟังต่าง ๆ นั้นสมองก็จะช่วยในการคัดสรรข้อมูลในขั้นต้น โดยพิจารณาจากสิ่งที่ปรากฏในด้านความตั้งใจ ความตระหนัก ตลอดจนการทบทวนข้อมูลต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อการตัดสินใจในการรับการสื่อสารนั้น ๆ แต่ทั้งนี้ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นต่อกระบวนการดังกล่าวขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคนด้วย
จากแนวคิดดังกล่าวมองเห็นว่าบทบาทหน้าที่ของดนตรีเป็นตัวสื่อสารไปยังผู้รับสารโดยการแปลผลจากสิ่งที่ได้รับมาและส่งผ่านไปยังสมอง และส่งผลทางด้านจิตใจของผู้รับสารเป็นผู้เลือกว่าจะรับหรือไม่รับ แต่ปัจจัยอีกอย่างในการตัดสินใจของผู้รับสารนั้นไม่สามารถละเลยบริบททางสังคม ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมันสามารถเป็นตัวสร้างการตัดสินใจในการรับสารได้เช่นกัน สิ่งที่ต้องตระหนักหรือสิ่งที่ต้องตัดสินใจในบางครั้งอาจจำเป็นต้องตอบสนองต่อสถานะของสังคมในแต่ละยุคสมัย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือสัญลักษณ์ในการสร้างความเข้าใจ รวมทั้งถ่ายทอดความรู้สึกต่างๆ ให้กับกลุ่มชน ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของแต่ละกลุ่มชน ไม่ว่าจะเป็นมิติของพลังอำนาจรัฐหรือมิติของพลังอำนาจประชาชน ซึ่งสามารถมองผ่านภาพสะท้อนของสังคมตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันได้

ดนตรีกับความเคลื่อนไหวทางสังคม
การมองเห็นสถานะความเป็นจริงทางสังคมของดนตรีในเชิงปรัชญา โดยมองถึงการนำไปใช้ให้เกิดผลต่อการกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลง การส่งผ่านความคิดทางดนตรีคือแรงกระตุ้นให้เกิดความสนใจ หรือยั่วยุ ซึ่งมันเป็นสิ่งท้าทายที่เหนือความเชื่อ ดนตรีมักเกิดขึ้นเสมอ ๆ ต่อทีท่าของกิจกรรมมนุษย์ หรือบางสิ่งที่มนุษย์กระทำ ดนตรีคือการก่อรูปทางสังคมหรือเป็นการสร้างความทรงจำที่ตราตรึงให้กับสังคม รวมทั้งมันเป็นธรรมชาติและคุณค่าที่มีผลการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การปฏิบัติการของดนตรีไม่ได้อาศัยรูปแบบที่ตายตัว แต่จะใช้แก่นแท้ที่มันอยู่ภายในจิตใจเป็นตัวสร้าง ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันถูกสร้างขึ้นโดยสำนึกรวมหมู่ของมนุษย์ อาจกล่าวได้ว่าดนตรีสามารถแยกแยะคนในสังคมได้ ซึ่งดนตรีหนีไม่พ้นกับการดำรงอยู่ในสถานะของการรองรับทางสังคม ดังนั้นดนตรีคือตัวตนของสังคม
จากแนวคิดข้างต้นเมื่อมองถึงดนตรีกับการเคลื่อนไหวทางสังคม และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองไทยนั้น คำอธิบายถึงปรากฏการณ์ที่ชัดเจนมีหลาย ๆ ช่วงเวลา ดังเช่น สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ที่คณะผู้ก่อการพยายามสร้างเพลงชาติขึ้นมาใหม่ โดยให้เหตุผลว่าเพลงที่เกิดขึ้นมาใหม่เป็นของประชาชน เพลงสรรเสริญพระบารมีที่มีอยู่แล้วเป็นเพลงของพระมหากษัตริย์ ซึ่งภาพสะท้อนดังกล่าวเป็นการสร้างความชอบธรรมให้เห็นความต่างที่ชัดเจนกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย หรืออีกปรากฏการณ์หนึ่งในยุคสมัยจอมพลป.พิบูลสงครามได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีนโยบายเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามประเทศมาเป็นประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๒ และได้ทำการปรับปรุงเพลงชาติเพื่อให้เข้ากับชื่อประเทศที่เปลี่ยนใหม่ รวมทั้งยุคดังกล่าวเป็นยุคของความพยายามสร้างชาติใหม่ ซึ่งมีหลายปัจจัยส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนในสังคมทุกระดับ เช่น การให้ประชาชนทุกคนทำความเคารพเพลงชาติในตอนเช้าเวลา ๘.๐๐ น. และเย็นเวลา ๑๘.๐๐ น. ซึ่งทุกคนจะต้องหยุดยืนตรง ซึ่งประชาชนบางคนก็มีความรู้สึกชื่นชมแต่บางคนก็รู้สึกขบขันต่อสิ่งที่ได้กระทำ จากนโยบายดังกล่าวทำให้เกิดเอกลักษณ์ใหม่ของสังคมที่ปฏิบัติสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน เป็นต้น

จากมุมมองข้างเป็นเพียงตัวอย่างบางประการของดนตรีกับความเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองไทย ทำให้เห็นมุมมองของบทเพลงที่เกิดขึ้นภายใต้สภาวะเงื่อนไขทางสังคม ซึ่งมันสามารถเป็นปัจจัยในการสร้างสำนึกรวมหมู่ และนำไปสู่การเคลื่อนไหว ตลอดจนสามารถปรับเปลี่ยนทางสังคมจากสถานการณ์หนึ่งไปอีกสถานการณ์หนึ่งได้อย่างชัดเจน แต่ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองไทยยังคงมีมิติเชิงซ้อนในการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนอีกหลาย ๆ กลุ่มชน เช่น กลุ่มที่แสดงความเห็นต่างกับรัฐอย่างชัดเจน หรือกลุ่มที่เห็นต่างกับรัฐแต่ก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ทางสังคมได้ ซึ่งหน่วยทางสังคมดังกล่าวเป็นมุมมองการวิเคราะห์ในระดับจุลภาค ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาคของสังคมการเมืองไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
บทบาทหน้าที่ของดนตรีที่มีต่อสังคมนั้นมีบทบาทอยู่หลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การให้ความสนุกนานและผ่อนคลายความเครียดให้กับประชาชนในสังคม การใช้ดนตรีเป็นสื่อกลางในการช่วยบำบัดผู้ป่วย หรือแม้กระทั่งการใช้ดนตรีเพื่อเป็นสื่อเพื่อสร้างพลังบางอย่างให้กับกลุ่มชนต่าง ๆ เพื่อสร้างความสำนึกให้เกิดขึ้นกับสังคมและประเทศชาติ ดังนั้นเราจะเห็นว่าดนตรีนั้นเปรียบเสมือนกับสถาบันหนึ่งในโครงสร้างทางสังคมที่สำคัญไม่แพ้กับสถาบัญอื่นๆในสังคม
เขียนโดย บัณฑิต ไกรวิจิตร, Bundit Grivijitr ที่ 10:34

บทเพลงปลูกจิตสำนึก

เป็นสุขด้วยดนตรี

เป็นสุขด้วยดนตรี



     ร่างกายเหมือนรถยนต์ สมองเป็นพวงมาลัย จิตใจคือคนขับ ที่สั่งสมอง-ร่างกาย "ศาสตร์บำบัด ทำในสิ่งที่ยาทำไม่ได้"

          ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดบรรยายเรื่อง ดนตรีบำบัด โดย กัลยากร ฉัตรแก้ว ซึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพ เมื่อปี 2541 ได้ไปเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด สุวคนธบำบัดหรืออโรมาบำบัด และนวดบำบัด จากประเทศแคนาดา ปัจจุบันทำงานที่สมาคมพยาบาล ทำงานเผยแพร่แนวทางการเยียวยาผู้ป่วยด้วยการบำบัดในรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้เป็นทางเลือกร่วมกับการรักษาหลักทั่วไป

          ดนตรีบำบัดที่วิทยากรบรรยายในวันนั้น เป็นแนวทางที่บุคลากรในโรงพยาบาล หรือญาติผู้ป่วยสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือผู้ป่วยที่ต้องใช้เวลาพักฟื้นนานๆ และแม้แต่บุคคลทั่วไปก็สามารถนำแนวทางการใช้ดนตรีบำบัดนี้ไปใช้เพื่อพักผ่อน ผ่อนคลายจากอารมณ์ด้านลบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเครียดหรือความเศร้า

          วิทยากรอธิบายว่า การใช้ดนตรีบำบัด เพื่อเป็นสื่อกระตุ้นพัฒนาการแสดงทางร่างกาย เช่น การเคลื่อนไหว การนอนหลับ ความจำ การอยากรับประทานอาหาร ระบบประสาท ความเจ็บปวด และมีรูปแบบการใช้หลากหลาย อย่างใช้การฟังดนตรีหรือโคลงกลอน ใช้การร้องเพลงหรือแต่งเพลงก็ได้ การใช้อุปกรณ์หรือเครื่องดนตรี การเคลื่อนไหว การระลึกถึงความหลัง จินตนาการ เป็นต้น

          "ถ้าฟังเพลง อาจจะเป็นเพลงพวกฮีลลิ่ง เธอราพี มิวสิค เพลงบรรเลงช้าเบาๆ ให้บรรยากาศสดชื่น มีเสียงนกร้อง หรือเสียงน้ำไหลก็ได้ หรือเพลงอะไรก็ได้ที่ชอบ ส่วนพวกอุปกรณ์อย่างเช่น พวก Singing Bowl ที่เป็นเหมือนถ้วยโลหะ เคาะแล้วมีเสียงกังวาน ฟังแล้วก็ได้ความสงบและสมาธิก็ได้ หรือถ้าจะร้องก็เช่นกัน ผู้สูงอายุบางคนก็ชอบเพลงสุนทราภรณ์ หรือเพลงอะไรก็ได้ บางทีเวลาร้องก็ไม่ต้องเกร็งว่าต้องให้ไพเราะ ร้องให้สนุกๆ ก็ช่วยปลดปล่อยความเครียด ความกังวลจากความเจ็บป่วยได้"

          การใช้ดนตรีบำบัดจะทำให้คนไข้มีอาการดีขึ้นได้หรือไม่ กัลยากร อธิบายว่า ไม่เฉพาะเรื่องดนตรีบำบัดอย่างเดียว ยังสามารถใช้ศิลปะบำบัด อโรมาบำบัด และการนวด เนื่องจากแต่ละคนมีความแตกต่าง และไม่ได้มองแต่เฉพาะเรื่องของโรคเท่านั้น ต้องมองทั้งเรื่องทางกาย จิตวิญญาณ ครอบครัว อารมณ์ สังคม ที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ถ้ามองคนไข้ด้วยสายตาแบบนั้นจะทำให้มองเห็นปัญหาของเขา

          "วิธีการนี้คือการสื่อ ผู้ป่วยจะรับรู้อย่างมาก คือความตั้งใจ ความจริงใจของเรา อย่างมีกรณีหนึ่งเป็นเด็กที่เป็นมะเร็ง กรณีนี้สับสนวุ่นวายในชีวิตมาก พอป่วย แล้วก็รู้ว่าตัวเองต้องตาย ขณะที่ดูแลเขา เราไม่ได้พูดถึงเรื่องความตายเลย ไม่ต้องมาบอกว่าความตายจะเกิดขึ้นเมื่อใด จะต้องให้เขายอมรับ จะต้องสงบ ไม่ได้ทำอย่างนั้น แต่วิธีการต่างๆ ที่ใช้กับเขา มันสื่อถึงความรู้สึกระหว่างเรา คนไข้ และครอบครัวของเขา เขารู้ได้ถึงความตั้งใจ ให้เขาผ่อนคลาย มีความสุข"

          "อย่างที่โรงพยาบาลเลิดสิน คนไข้เป็นมะเร็งที่ขา เขาก็บอกว่านวดช่วยไม่ได้หรอก เราก็ว่าช่วยได้เพราะมันมีสิ่งที่ยาทำไม่ได้แน่ๆ คือ เรื่องความรู้สึก เรื่องจิตใจ ที่เราสร้างความมั่นใจกับเขาว่า ถึงอย่างไรก็มีคนพร้อมจะอยู่เคียงข้างเขา เดินไปกับเขา สนใจปัญหาของเขา ว่าเขาปวด เราก็พยายามที่จะช่วย อาจไม่ถึง 100% แต่เรานำมาช่วยในการบรรเทา สิ่งที่ยิ่งใหญ่มหาศาลคือ การที่เขาสัมผัสได้ถึงความตั้งใจของเรา แล้วตรงนั้นจะเป็นพลังให้เขาในวันข้างหน้า แม้ว่าเขาจะต้องตาย ก็สามารถที่จะตายอย่างสงบได้"

          กัลยากร อธิบายต่อว่า เช่นเดียวกันกับดนตรีบำบัด ที่ไม่ได้ฟังแล้วหายป่วย หรือไม่เจ็บปวดอีกต่อไป เพราะการนำดนตรีมาใช้เพื่อแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึก เป็นสื่อทางภาษา ทางจิตวิญญาณ บางทีฟังไม่รู้เรื่อง แต่ก็รู้ว่าเศร้า หรือฮึกเหิม ฟังแล้วมีกำลังใจ ดนตรีสื่อได้ หรือย่างบทสวดทั้งหลายก็สามารถสื่อได้ถึงพลังภายใน หรือความสงบ อย่างทางทิเบตหรือเจ้าแม่กวนอิมก็สัมพันธ์กับความสงบทางจิตวิญญาณเป็นพลังชีวิต

          "ไม่ใช่ฟังเพลงแล้ว ไม่เจ็บ ไม่ปวด แต่มันลึกอยู่ข้างใน เรื่องของจิตวิญญาณผู้ให้ต้องสัมผัสด้วยตัวเอง แล้วเราจะรู้สึก จะเข้าใจถึงสิ่งต่างๆ เหล่านั้น แล้วยิ่งได้เห็นคนไข้แม้จะเป็นระยะสุดท้าย เขาก็มีการเติบโตทางจิตวิญญาณ เขาเติบโตได้ เรื่องฮีลลิ่งเกิดได้"

          นอกจากนี้การนำดนตรีบำบัดมาใช้ก็มีหลายมิติ บางรูปแบบก็นำมาใช้ทำงานโดยตรงกับอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย อย่างเรื่องความจำหรือระบบประสาท อย่างเช่น คนที่เป็นความจำเสื่อม หรืออัลไซเมอร์  มีการใช้เรื่องของเพลงมาเปิดซ้ำๆ กระตุ้นความทรงจำ กระตุ้นระบบประสาท

          "ด้วยการเปิดเพลงนี้ทุกเช้าตอนตื่นนอน พอได้ยินเพลงนี้ปุ๊บก็จะตื่น เปิดเพลงนี้ทุกครั้งที่ทานข้าว พอได้ยินเขาก็รู้ว่าต้องทานข้าว เอามาใช้ในการฟื้นฟูระบบประสาท ความทรงจำได้ อย่างโมสาร์ทเอฟเฟ็กซ์ ก็จะใช้คลื่นความถี่ของเสียงดนตรี ก็จะมีผลต่อคลื่นสมอง ทำไมฟังแล้วรู้สึกสงบได้ หรือสวดมนต์ฟังแล้วสงบได้ มันเป็นเรื่องของคลื่นเสียงที่มีผลต่อร่างกายโดยตรง จากคลื่นสมองแล้วมีผลกระทบลงมาที่ร่างกายต่อ"

          กัลยากร อธิบายต่อว่า นอกจากดนตรีจะมีผลต่อร่างกายโดยตรง ยังมีผลต่อจิตใจด้วย โดยมีคำพูดเปรียบเทียบว่าร่างกายเหมือนรถยนต์ สมองเหมือนพวงมาลัยรถ แล้วจิตเหมือนคนที่นั่งหลังพวงมาลัย เพื่อจะสั่งสมอง ร่างกายให้ทำอะไรก็ได้ ฉะนั้นการทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะที่ผ่อนคลาย อาจจะด้วยการนั่งสมาธิหรือฟังเพลงที่ทำให้ร่างกายผ่อนคลายให้คลื่นสมองดาต้าเวฟ คลื่นที่นิ่งสงบ ก็เป็นส่วนช่วยกล่อมเกลาจิตใจได้ด้วย

          "ถ้าได้ฟังแล้วจิตใจก็มีพลัง ความเครียดลดลง สดชื่นขึ้น แล้วก็รู้สึกว่ามีคุณค่า มองเห็นตัวเองมากขึ้น หรือใช้ในคนที่มีพฤติกรรมแยกตัว เอาเพลงเข้ามาเป็นสื่อ มีคนไข้เด็กที่ถูกตัดขาเขาปวดมาก ก็จะกรี๊ด ยาเอาไม่อยู่ เด็กก็จะไม่คุยกับใคร พอรู้ว่าเขาชอบดนตรี เราก็เอาเพลงที่เขาชอบมาเปิด หาคนบริจาคเครื่องเล่นต่อกับโทรทัศน์ในห้อง เด็กก็มีความสุขขึ้น ถ้าไม่อย่างนั้นก็อยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยม เขาไม่รู้จะไประบายตรงไหน ก็ได้แต่กรี๊ดๆ เพลงช่วยดึงความสนใจและตัวตนของเขาออกมา ทำให้มีความรู้สึกดีๆ กับตัวเอง และภาคภูมิใจ"

          "ไม่ว่าจะเปิดฟังเองหรือเปิดให้คนอื่นฟัง ไม่ใช่เพลงนั้นเพลงนี้ดีแล้วจะบังคับให้ใครฟัง อย่างบางคนบอกว่า เพลงคลาสสิกดี แต่ถ้าไม่ชอบแล้วต้องทนฟัง มันก็ทรมาน ถ้าชอบแนวพื้นๆ สบายๆ ก็ฟัง อยู่ที่ว่าเอาไปใช้กับใคร หรือเพลงที่ทำให้รู้สึกดีได้ อย่างเพลงที่มีความหมายมีความหลัง อย่างบางคนเป็นทหารเรือ เขาภูมิใจในความเป็นทหารเรือ ก็เปิดเพลงวอลล์ราชนาวี ระลึกถึงความสุขกับอาชีพที่เขาภูมิใจ ให้เขาได้เล่า ได้ย้อนระลึก เขาก็จะภูมิใจ ความรู้สึกหดหู่ท้อแท้ก็จะบรรเทาลง ทำให้เขารู้สึกว่าชีวิตน่าภาคภูมิใจ" วิทยากร เล่าทิ้งท้าย


เรื่อง : รมณ รวยแสน

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ความมหัศจรรย์ของดนตรีกับมนุษยชาติ

ความมหัศจรรย์ของดนตรีกับมนุษยชาติ

 ได้มีบทพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งทางด้านดนตรี ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ว่า
                                   “ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก”
 เป็นข้อความที่เราชาวไทยทั้งหลายคุ้นเคยกันดี ซึ่งในบริบทของทีมสุขภาพจิต พวกเราได้มีการนำดนตรีมาใช้เพื่อการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร มีหลักฐานบางส่วนที่เป็นรายงานการศึกษาผลของดนตรีต่อการบำบัดทางจิตไว้ดังนี้

           มีรายงานการศึกษาเรื่องของดนตรีกับเรื่องของสุขภาพจิต จากการศึกษาของ จินตนา สงค์ประเสริฐ และคณะ โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต ได้ศึกษาเรื่อง ดนตรีบำบัดกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเผยแพร่ตีพิมพ์ใน วารสารจิตวิทยาคลินิก ปีที่ 26 ฉบับที่ 1 มกราคม - มิถุนายน 2538, 23-30 ความว่า
         “ในปัจจุบันมีการนำดนตรีมาใช้บำบัดโรคต่าง ๆ ได้อย่างมีผลดียิ่งทั้งโรคทางกายและทางจิตเวช (กรีกเป็นชาติแรกใช้พิณดีดรักษาโรคซึมเศร้า) มีการค้นพบว่าดนตรีใช้ลดอาการเจ็บปวดจากการคลอดจากการถอนฟัน รักษาคนที่มีความเครียดกังวล แยกตัวจากสังคม หรือคนพิการซ้ำซ้อนได้ดีตลอดจนผู้ป่วยจิตเภท ผู้มีพฤติกรรมถดถอย เหงาเศร้าได้ ด้วยเหตุนี้จึงได้นำดนตรีบำบัดมาใช้กับผู้ป่วยจิตเวชทั้งโดยการเปิดเทปจังหวะเร้าใจ มีการขยับตัวเข้าจังหวะ ใช้ดนตรีแบบเคาะจังหวะ และอุปกรณ์เกิดเสียงให้ผู้ป่วยได้เขย่าหรือฟังเพลงแล้วให้บอกถึงความรู้สึกที่ได้จากเพลง โดยการบำบัดครั้งละ 1-1.30 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2 ครั้งพบว่าผู้ป่วยมีอาการเรื้อรัง พฤติกรรมถดถอย แยกตัว จะกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างรวดเร็ว ในชั่วโมงที่ 2 ของการบำบัดผู้เหงาเศร้าจะยิ้มแย้มได้ หลังจากไม่เคยยิ้มมานานแล้ว”
         นี้เป็นรายงานการศึกษาของบุคลากรสุขภาพจิตในการชี้ให้เห็นคุณประโยชน์ของดนตรีกับการบำบัดผู้ป่วยจิตเวช ขณะเดียวกันในต่างประเทศเร็วๆนี้ได้มีบทความรายงานพิเศษที่ได้อธิบายถึงความเกี่ยวข้องของดนตรีกับการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ซึ่งบทความดังกล่าวได้เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์มติชนสัปดาห์ วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1267 ในหัวข้อ ดนตรี-คณิตศาสตร์ทางอารมณ์ (Music-Mathematics of Feelings) ของ Philip Bethge ซึ่งแปลมาจาก *บทความทางวิทยาศาสตร์จากในนิตยสารเยอรมัน "เดียร์สปีเกิ้ล" (Der Spiegel) ฉบับที่ 31/28 ก.ค.2546 โดย ดวงดี คงธัญญะงาม ซึ่งให้มุมมองของดนตรีกับของอารมณ์ ไว้ดังนี้คือ

         “เสียงเพลงสามารถชวนให้เกิดอารมณ์เศร้า หรือทำให้มีความปลาบปลื้มยินดี อีกทั้งทำให้หวาดกลัวจนขนลุกตั้งชันเสียวสันหลังขึ้นมาก็ได้ สิ่งนี้เป็นขึ้นได้อย่างไร นักวิจัยได้ทำการค้นคว้าเพื่อไขปริศนาว่าจากคลื่นแรงเหวี่ยงในธรรมชาตินั้น มันเปลี่ยนสภาพกลายมาเป็นอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ได้อย่างไร แล้วปริศนาของนักคีตกวีทั้งหลายมีความเป็นมาอย่างไร เพราะดนตรีนี่หรือเปล่า ที่ทำให้มนุษย์เป็นสัตว์สังคมดนตรีเป็นศิลปะที่แปลกที่สุดที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาเมื่อเทียบกับการวาดภาพ การแต่งกลอน การแกะสลักรูปปั้น เสียงสอดคล้องกันเพียงเสียงเดียว หรือทำนองเดี่ยวเฉยๆ ก็ยังไม่มีความหมาย
         ในตัวแกนของดนตรีนั้น คือคณิตศาสตร์ล้วน เป็นแรงแกว่งของลมที่ถูกคำนวณด้วยตัวเลข-ซึ่งความถี่ห่างของแรงเหวี่ยงในอากาศนั้นๆ เข้าไปทับซ้อนกัน แล้วความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งก็บังเกิดขึ้น-จากคณิตศาสตร์กลายมาเป็นความรู้สึกทางอารมณ์ ดนตรีสามารถกระตุ้นจิตใจได้อย่างลึกซึ้ง ให้เกิดการคิดถึงอาลัย หรือรู้สึกถึงความมีชัยชนะ แล้วเพราะเหตุไรจึงเกิดมีความสัมพันธ์กันระหว่างตัวเลขกับเสียง มนุษย์เริ่มร้องรำทำเพลงมาตั้งแต่เมื่อใด แล้วทำไมจึงต้องมีการร้องเพลง
         ด้วยเครื่องมืออันทันสมัยนักวิทยาศาสตร์หลายแขนง เช่น นักจิตวิทยา นักประสาทวิทยา นักคำนวณ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง นักวิชาการด้านดนตรีพากันสืบหาปรากฏการณ์ที่ว่านี้อย่างถึงรากถึงบึง ยิ่งค้นก็ยิ่งพบหลักฐานว่าดนตรีนั้นผูกพันอยู่กับชีวิตมนุษย์มานานนักหนา ในสมัยหินมีการนั่งล้อมกองไฟ และร้องเพลง พร้อมกับเต้นไปรอบๆ กองไฟ ในถ้ำที่พวกเขาอาศัยอยู่ได้พบขลุ่ยทำจากกระดูกหงส์ที่เจาะไว้ 3 รู คาดว่าจะมีอายุราว 35,000 ปี
         เสียงที่เกิดขึ้นจะโดยธรรมชาติ หรือจากเครื่องดนตรีก็ตามเป็นขึ้นเนื่องจากมีการสั่นไหวหลายๆ ครั้ง แล้วแกว่งทับซ้อนกันไปมา ดนตรีกำเนิดมาแต่ธรรมชาติที่ผันแปรมาเป็นวัฒนธรรม เริ่มจากเสียงกระทบของท่อนไม้ที่กลวง เสียงหวีดคล้ายการผิวปากจากลมพัด เสียงกระแสน้ำไหล ใบไม้สีกันกรอบแกรบ เสียงเหยียบทรายดังกรอดๆ เสียงผึ้งพึมพำ หรือแม้แต่แค่ก้อนหินกลิ้งตกลงมาก็เป็นต้นเหตุให้มนุษย์รับรู้เรื่องดนตรีและนำไปตีความ
         ทำนองกับจังหวะนั้นทำปฏิกิริยาต่อระบบสมองตรงส่วนที่รับรู้เรื่องเศร้า เรื่องยินดี ความใฝ่ฝัน ความปรารถนาต่างๆ ดังนั้น การชมภาพยนตร์ที่ไร้เสียงเพลงประกอบ จะไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกให้ผู้ชมได้เลย พูดได้ว่าดนตรีคือผู้เปิดประตูให้เกิดความรู้สึกทางจิตใจ

  มีนักประสาทวิทยาหลายคนทั้งชาวเยอรมัน (Stefan Koelsch) และชาวแคนาดา (Anne Blood) ทดลองด้วยการวัดคลื่นสมองของพวกอาสาสมัครโดยใช้สายเคเบิลเป็นประจุไฟฟ้าที่ติดเชื่อมอยู่กับผ้ายางสวมหัวคล้ายหมวกอาบน้ำในหลายๆ จุดรอบศีรษะเพื่อจะดูว่าเสียงเพลงประเภทใดที่เจ้าตัวบอกว่าชอบ หรือไม่ชอบจะเข้าไปทำปฏิกิริยาต่อสมองส่วนไหนบ้าง และนาง Blood ก็สรุปออกมาว่า
        เพลงที่เจ้าตัวว่าไพเราะนั้น ขมับซ้ายและสมองส่วนหน้าจะทำงานแล้วเข้าไปกระตุ้นที่สมองส่วนกลาง ซึ่งจุดนั้นทำให้คนเรามีความสุข แล้วสมองบริเวณเดียวกันนี้แหละที่ถูกกระตุ้นด้วยเมื่อเวลาเรารับประทานอาหาร ร่วมเพศ หรือเสพยา ในทางตรงกันข้ามเมื่อให้ฟังเพลงที่บอกว่าไม่ชอบ หรือฟังแล้วมีอาการสยองแบบระทึกใจ การทำงานของเส้นประสาทจะยิงไปที่ขมับขวา ที่น่าสนใจคือสมองแถบนี้ก็ทำงานด้วยเมื่อคนเราถูกยั่วยวนให้โกรธ"



        ส่วนนักค้นคว้าด้านวิวัฒนาการชาวญี่ปุ่น ฮาจิเมะ ฟูกุย วิเคราะห์ว่า "การร้องรำทำเพลงร่วมกันในกลุ่มสุภาพบุรุษทำให้ความเข้มข้นในฮอร์โมนก้าวร้าว (Testosterone) ลดลง และถ้าร้องร่วมกันทั้ง 2 เพศจะลดการหลั่งสารคอร์ติซอน (Cortisone) ซึ่งเป็นการลดความเครียด"
       เป็นความสามารถของประสาทหู เพราะข้างในหูคนเรามีเซลล์ประสาทเป็นเส้นขน 5,000 เส้น ซึ่งทำหน้าที่แปรสภาพให้เกิดพลังคลื่นเสียงเป็นไฟฟ้าในกระแสประสาท การบันทึกเสียงผ่านเยื่อแก้วหูเกิดขึ้นโดยความกดของอากาศ (โมเลกุลอากาศเล็กจี๊ดเดียว) ที่แกว่งไปมา พอเสียงเข้าไปในหูแล้วยังมีการขยายต่อโดยให้เสียงผ่านเข้ากระดูกข้อต่อในหู แล้วมีแผ่นบางๆ รองรับที่จะส่งต่อไปยังสารเหลวที่อยู่ในส่วนลึกนั่นคือ กระบวนการทำให้เกิดอารมณ์ ความรู้สึกทางใจจนมนุษย์เข้าไปสัมผัสกับมิติอื่นได้
      นักค้นคว้าหลายคนยังสงสัยอีกว่าธรรมชาติให้มีดนตรีไว้เร้าอารมณ์ซึ่งเป็นระบบที่ร่างกายจะให้รางวัลตนเอง อย่างนั้นหรือ บางรายวิเคราะห์ว่าน่าจะเกี่ยวกับการหาคู่เพราะการร้องเพลงโดยเฉพาะในสัตว์ เช่น นก หรือแมลงส่งเสียงร้องเพื่อกระตุ้นให้เพศตรงข้ามมาผสมพันธุ์
      ฝ่ายนาย David Huron ชาวอเมริกันนักวิจัยด้านดนตรีจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอกล่าวว่า "ดนตรีน่าจะเกิดขึ้นเพื่อให้คนอยู่รวมกลุ่มกัน เพราะมนุษย์ต้องการความสัมพันธภาพด้านสังคมเป็นอย่างยิ่ง งานหลายๆ อย่างที่ต้องการกำลังใจ ต้องการระดมคนหลายๆ คนมาร่วมมือกัน เช่น นายพรานจะออกไปล่าสัตว์ เหล่าทหารจะออกไปสู้รบกับข้าศึก ชาวนาเก็บเกี่ยวผลิตผล สัตรีรวมกลุ่มกันประดิษฐ์งานหัตกรรม ฯลฯ"
      ทฤษฎีอันเดียวกันนี้ที่ว่าดนตรีเป็นตัวเชื่อมประสานของสังคมนั้น นักค้นคว้าด้านวิวัฒนาการชาวญี่ปุ่น นายฮาจิเมะ ฟูกุย เสริมว่า "ยิ่งมีกลุ่มมนุษย์เพิ่มมากขึ้น การไกล่เกลี่ยความตรึงเครียดในสังคม และทางเพศก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นด้วย และดนตรีนี่แหละ คือทางออก"
     เมื่อนักวิชาการทั้งหลายเห็นร่องรอยการสร้างของธรรมชาติที่ว่านี้ ก็เชื่อแน่ว่าคลื่นเสียงดนตรีที่เกิดจากการแกว่งไปมาของลม (หรือโมเลกุลในอากาศ) ตามตัวเลขอันซับซ้อน แล้วเข้ามากระทบกับเส้นประสาทหูจนเกิดกระบวนการไปกระตุ้นความรู้สึกทางอารมณ์ดังที่กล่าวมาแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ในสมองมนุษย์น่าจะต้องมีการวางรากฐานทางดนตรีไว้อยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น เด็กตัวเล็กๆ จึงเป็นเป้าในการทดลองเพื่อ การศึกษาในเรื่องนี้ เพราะในหัวเด็กนั้นเขาถือว่ายังไม่ทันมีสีสันของวัฒนธรรมใดๆ เข้าไปย้อม
     จิตแพทย์หญิงชาวคานาดา Sandra Drehub ได้ทดสอบกับเด็กตัวน้อยๆ โดยจัดให้คุณหนูๆ เข้าไปอยู่ในห้องทดลองที่มีของเล่นน่าเพลิดเพลินสารพัดชนิด และมีลำโพงขยายเสียงอยู่ในนั้นด้วยเพื่อทำการทดสอบค้นหารากฐานแห่งดนตรีในสมองเด็ก
    การทดลองของแพทย์หญิงที่ว่านี้ก็ใช้วิธีง่ายๆ คือเปิดเพลงเด็กในทำนองเดี่ยวเรียบๆ สำหรับให้เด็กเล็กๆ ที่เพิ่งจะเริ่มหัดพูดฟัง แล้วลองแอบใส่ทำนองอื่นที่มีเสียงเพี้ยนแทรกเข้าไปเป็นระยะๆ โดยทิ้งช่วงห่างบ้าง ถี่บ้าง
    แล้วแพทย์ผู้ทำการทดลองคนนี้ก็ต้องพบกับความน่าพิศวงยิ่ง เพราะมนุษย์ตัวน้อยๆ ที่กำลังเพลินกับของเล่นอยู่นั้นต้องชะงัก และหันหัวไปทางลำโพงทุกครั้งเมื่อได้ยินทำนองแปลกปลอม ซึ่งไม่เข้ากับจังหวะเพลงที่เปิดอยู่เลย

 คำถามที่ว่าธรรมชาติได้ฝังหลักสูตรความสอดคล้องในการประสานเสียงทั้งหลายไว้ในสมองมนุษย์ แล้วมีการถ่ายทอดยีนอันนี้ไปเรื่อยๆ ใช่หรือไม่นั้น หากจะเอาคำตอบนี้คงต้องไปหาอาสาสมัครที่แทบจะไม่มีโอกาสได้ยินเสียงเพลงเลยมาทดสอบ ซึ่งคงหาไม่พบแน่ เพราะเดี๋ยวนี้เป็นยุคไฮเทคอิทธิพลของดนตรีได้แพร่ขยายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ไปที่ไหนก็มีเสียงเพลงกระจายไปทั่วโลก เช่น ในเรือบินในรถยนต์ ในครัว ตามสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า สถานีรถไฟ แม้แต่ในกระต๊อบของหมู่บ้านเล็กๆ ประเทศปาปัวนิวกินีแสนห่างไกลความเจริญก็ยังมีเสียงเพลงของ Robbie Williams แว่วมาตามสายลม
     พูดถึงอิทธิพลของเสียงเพลงแล้ว จะเห็นบุคคลในตำแหน่งสำคัญต่างๆ ใช้เพลงเป็นที่ปลอบขวัญ และกำลังใจมนุษย์ เช่น ตอนที่กำแพงเมืองเบอร์ลินถูกพังทำลายเมื่อ พ.ศ.2532 ผู้ใหญ่ผู้โตทางการเมืองพากันร้องเพลงชาติอย่างกล้าหาญ หรือในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2544 ในตอนค่ำหลังจากตึก World Trade ในเมืองนิวยอร์กถล่ม ผู้แทนราษฎรรวมกลุ่ม และพากันร้องเพลง "พระผู้เป็นเจ้าทรงอวยพระพรอเมริกา" (God bless America) เพื่อลดความชอกช้ำทางจิตใจ ยิ่งในโบสถ์ การนมัสการไม่เคยเลยสักครั้งเดียวที่จะปราศจากการร้องเพลงถวายเกียตรพระผู้เป็นเจ้า นักค้นคว้าชาวอังกฤษ นาย Ian Cross จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กล่าวเสริมว่า "การมีเพลงเปรียบเสมือนมีสนามที่เล่นในจิตใต้สำนึก เพราะหัวใจของดนตรีนั้น ให้อิสระในการไปตีความ ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ไปตามความนึกคิด และฝึกด้านจินตนาการ นั่นคือเรื่องจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในการจะพัฒนาสมอง"

 กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่าเรื่องของดนตรีที่มีผลต่ออารมณ์ (สุขภาพจิต) ของมนุษย์เรานั้นเป็นไปอย่างมหัศจรรย์ยิ่ง

   ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
Retrieved from
ที่มา         www.panyathai.or.th/wiki/index.php/ดนตรีบำบัด - 42k -

ดนตรี กับ ชีวิต

ดนตรี กับ ชีวิต

โน้ตเพลงแรกที่มนุษย์ร้องได้แว่วหายไปในอากาศเป็นเวลานานเสียจนเราไม่มีวันจะรู้ว่ามนุษย์เริ่มรู้จักร้องเพลงตั้งแต่เมื่อใด
ถึงกระนั้นนักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยาก็รู้ดีว่า มนุษย์รู้จักร้องเพลงก่อนที่จะรู้จักเขียนหนังสือ
เพราะได้พบหลักฐานว่าชาว Sumerian รู้จักร้องรำทำเพลงตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาลประมาณ 3,600 ปี
และเมื่อมีการเต้นรำบูชาเทพเจ้า นั่นหมายความว่า ชนเผ่านี้มีความสามารถในการทำอุปกรณ์ดนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ส่วนตัวอักษรที่ชาว Sumerian รู้จักประดิษฐ์ขึ้นใช้นั้น ได้เพิ่งอุบัติเมื่อประมาณ 5,000 ปีมานี้เอง

ทฤษฎีมานุษยวิทยาปัจจุบันเชื่อว่า เสียงดนตรีเสียงแรกคงเป็นเสียงตะโกนที่มนุษย์ใช้ในการส่งสัญญาณเวลามีภัย
และมนุษย์ได้ พบว่าเวลาที่เขาเปลี่ยนระดับเสียงให้สูงขึ้นหรือต่ำลงแล้วเปล่งเสียงไปกระทบผนังถ้ำหรือหน้าผา
ความกึกก้องของเสียงสะท้อน คงทำให้เขาตกตะลึงด้วยความตื่นเต้น และเมื่อเขาตะโกนซ้ำๆ
โดยให้เสียงมีความถี่และความดังต่างๆ กัน เขาก็ได้พบว่าเสียง สะท้อนมีความชัดและจังหวะที่หลากหลาย
จากนั้นมนุษย์คงได้เริ่มรู้จักจังหวะดนตรี โดยวิธีปรบมือ กระทืบเท้า ใช้มือตีขอนไม้ เป็นจังหวะ
ดังนั้น เราจึงอาจกล่าวได้ว่า ขอนไม้เป็นอุปกรณ์ดนตรีชิ้นแรกที่มนุษย์รู้จักใช้ในการให้จังหวะ
หรือเมื่อถึงเวลาล่าสัตว์ นายพรานยุคดึกดำบรรพ์บางคนที่อาศัยอยู่ใกล้ทะเลอาจใช้วิธีเป่าเปลือกหอยขนาดใหญ่
เพื่อบอกตำแหน่ง ของตนและเหยื่อ เพราะเขาได้พบว่าเสียงเป่าหอยสามารถเดินทางไปได้ไกลกว่าเสียงตะโกน
ดังนั้นคนเหล่านี้อาจใช้จังหวะการเป่า เป็นสัญญาณสื่อสารถึงกันได้เช่น ส่งเสียงดังสองครั้งแสดงว่าเหยื่ออยู่ทางซ้าย
หรือสัญญาณเสียงสามครั้งแสดงว่าเหยื่ออยู่ทางขวา เป็นต้น

ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เราเห็นว่า มนุษย์สร้างดนตรีขึ้นมาอย่างมีจุดมุ่งหมาย เช่น ใช้ในการล่าสัตว์หรือในพิธีเทวบูชา
หรือเพื่อ ความสำราญ เมื่อความสามารถในการสร้างสรรค์ของมนุษย์มีมากขึ้น
มนุษย์ได้พบว่าก้อนหินในถ้ำเวลานำมากระแทกกัน สามารถให้เสียงที่ทำให้
ตนรู้สึกสุขได้หรือเวลาเอาหนังสัตว์ที่แห้งมาขึงให้ตึง แล้วใช้ไม้ตีเขาจะได้ยินเสียงสูงๆ ต่ำๆ
และถ้าเขานำหนังสัตว์ไปขึงปิดปากภาชนะ แล้วตีด้วยไม้หรือมือ ภาชนะดังกล่าวจะทำให้เขาได้ยินเสียงดังกังวาน
นี่คือเทคโนโลยีการทำกลองรุ่นแรกๆ ส่วนคนที่ชอบยิงธนูก็ได้พบว่า สำหรับคันธนูที่มีเชือกขึงเวลาเขาดีดเชือกจะมีเสียงเกิดขึ้น
และถ้าเขาเปลี่ยนตำแหน่งของเชือกแล้ว ดีดใหม่เสียงที่ได้ยินจะดังไม่เหมือนเดิม
นี่คืออุปกรณ์ที่เราทุกวันนี้รู้จักกันในนามว่า พิณ ซึ่งนักโบราณคดีก็ได้เห็นภาพของพิณโบราณปรากฏบนผนังกำแพงเมือง Ur
ของชาว Sumerian ที่มีอายุประมาณ 4,600 ปี และที่ผนังหลุมฝังศพของฟาโรห์ Nebamun ที่เมือง Thebes
ในอียิปต์ก็มีภาพ แสดงนักดนตรีกำลังเล่นอุปกรณ์ดนตรีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า lute (พิณที่มีลักษณะคล้ายน้ำเต้า)
เมื่อ 3,400 ปีก่อนนี้ คัมภีร์ไบเบิล มีการกล่าวถึงเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า psaltery
ซึ่งทำด้วยกล่องไม้ที่มีเชือกพาดเหนือกล่อง และสามารถให้เสียงได้ เวลาคนเล่นดีดเชือก
ส่วนอุปกรณ์ดนตรีประเภทขลุ่ยนั้น คงเกิดจากการที่มนุษย์โบราณได้พบว่า เวลาเขาบริโภคไขกระดูกที่มีในกระดูกสัตว์แล้ว
กระดูก กลวงที่ถูกเจาะเป็นรูเวลาเป่าจะให้เสียงได้เช่นกัน


__________________
ชีวิต Light Worker@Facebook
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สันโดษ : 20-06-2008 เมื่อ 09:14 PM

บทเพลงคนไทยทุกคนควรฟังแล้วนำมาพัฒนาประเทศให้สงบสุข





พระผู้ปิดทองหลังพระ ขอพระองค์จงทรงพระเจริญยิ่งนาน
เพลงเพื่อชีวิต (Songs for Life) ประวัติเพลงเพื่อชีวิต ความเป็นมาเพลงเพื่อชีวิต


         เพลงเพื่อชีวิต (Songs for Life) มีแนวเพลงแม่แบบมาจากเพลงดังต่อไปนี้ เพลงอคูสติก, เพลงบัลลาด, บลูส์-ร็อก, ดนตรีคันทรี, เพลงลูกทุ่ง, ฮาร์ดร็อก, ไซเคเดลิกร็อก, เพลงเร้กเก้, เพลงพื้นบ้านไทย ซึ่งแหล่งกำเนิดแนวเพลงเพื่อชีวิตนี้ เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยราวๆปี พ.ศ. 2515 จนถึง พ.ศ. 2520 โดยใช้เครื่องดนตรีดังนี้ กีต้าร์อคูสติก, กีตาร์เบส, กีตาร์ไฟฟ้า, คีย์บอร์ด, ฮาร์โมนิก้า, เพอร์คัชชัน, ไวโอลิน, กลองชุด, เปียโน, เครื่องดนตรีไทย, เครื่องดนตรีพื้นเมือง

ทั้งนี้แต่แรกเริ่มเดิมที่ เพลงเพื่อชีวิต หมายถึง เพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึงชีวิตของคน โดยเฉพาะคนชนชั้นล่าง กล่าวถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิต การถูกเอารัดเอาเปรียบ เพลงในแนวเพื่อชีวิตในยุคนี้โดยมากจะเป็นเพลงลูกทุ่ง เช่น เพลง จักรยานคนจน ของยอดรัก สลักใจ, น้ำมันแพง ของสรวง สันติ, น้ำตาอีสาน แต่งโดยชลธี ธารทองและขับร้องโดยสายัณห์ สัญญา เป็นต้น



เพลงเพื่อชีวิต ในประเทศไทยเริ่มเฟื่องฟูเป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางโดยแพร่หลายช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โดยเนื้อหาของเพลงไม่จำกัดเฉพาะชีวิตของคนชั้นล่างอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยและการเหน็บแนมการเมืองอีกด้วย และแนวดนตรีได้เปิดกว้างขึ้นเป็นแนวอคูสสติกหรือร็อก โดยได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจจากศิลปินต่างประเทศ เช่น บ๊อบ ดีแลน, บ็อบ มาร์เลย์ , นีล ยัง เป็นต้น วงดนตรีเพื่อชีวิตที่มีชื่อเสียง ได้แก่ คาราวาน, แฮมเมอร์, โคมฉาย เป็นต้น






โดยความนิยมในเพลงเพื่อชีวิตไม่ได้เป็นเพียงกระแสในห้วงเวลานั้น หากแต่ยังได้รับความนิยมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีวงดนตรีและนักร้องเพลงเพื่อชีวิตที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน เช่น คาราบาว, พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, อินโดจีน, คนด่านเกวียน, มาลีฮวนน่า, โฮป, ซูซู, ตีฆอลาซู เป็นต้น อีกทั้งยังมีศิลปินบางคน หรือบางกลุ่มที่ไม่ได้เป็นเพื่อชีวิตอย่างเต็มตัว แต่เนื้อหาของเพลงหลายเพลง มีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกับเพื่อชีวิตหรือจัดให้ อยู่ประเภทเพื่อชีวิตได้ เช่น จรัล มโนเพ็ชร, เสกสรร ทองวัฒนา, ธนพล อินทฤทธิ์, หนู มิเตอร์, นิค นิรนาม, พลพล พลกองเส็ง, กะท้อน, ศุ บุญเลี้ยง, สิบล้อ เป็นต้น

ที่มาข้อมูล http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95

ดนตรี คือ อะไร

ดนตรี คือ อะไร

 ดนตรีเป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มาพร้อม ๆ กับชีวิตมนุษย์โดยที่มนุษย์เองไม่รู้ตัว ดนตรีเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์อย่างหนึ่งที่ช่วยให้มนุษย์มีความสุข สนุกสนานรื่นเริง ช่วยผ่อนคลายความเครียดทั้งทางตรงและทางอ้อม ดนตรีเป็นเครื่องกล่อมเกลาจิตใจของมนุษย์ให้มีความเบิกบานหรรษาให้เกิดความสงบและพักผ่อน กล่าวคือในการดำรงชีพของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายดนตรีมีความเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจสืบเนื่องมาจากความบันเทิงในรูปแบบต่าง ๆ โดยตรงหรืออาจเกิดจากขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ เช่น เพลงกล่อมเด็ก เพลงประกอบในการทำงาน เพลงที่เกี่ยวข้องในงานพิธีการ เพลงสวดถึงพระผู้เป็นเจ้า เป็นต้น

ดนตรีเป็นศิลปะที่อาศัยเสียงเพื่อเป็นสื่อในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ไปสู่ ผู้ฟังเป็นศิลปะที่ง่ายต่อการสัมผัส ก่อให้เกิดความสุข ความปลื้มปิติพึงพอใจให้แก่มนุษย์ได้ นอกจากนี้ได้มีนักปราชญ์ท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “ดนตรีเป็นภาษาสากลของมนุษยชาติ เกิดขึ้นจากธรรมชาติและมนุษย์ได้นำมาดัดแปลงแก้ไขให้ประณีตงดงามไพเราะเมื่อฟังดนตรีแล้วทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ” นั้นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราได้ทราบว่ามนุษย์ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดภาษาใดก็สามารถรับรู้อรรถรสของดนตรีได้โดยใช้เสียงเป็นสื่อได้เหมือนกัน

มีบุคคลจำนวนไม่น้อยที่ตั้งคำถามว่า “ดนตรีคืออะไร” แล้ว “ทำไมต้องมีดนตรี” คำว่า “ดนตรี” ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “เสียงที่ประกอบกันเป็นทำนองเพลง เครื่องบรรเลงซึ่งมีเสียงดังทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน หรือเกิดอารมณ์รัก โศกหรือรื่นเริง” จากความหมายข้างต้นจึงทำให้เราได้ทราบคำตอบที่ว่าทำไมต้องมีดนตรีก็เพราะว่าดนตรีช่วยทำให้มนุษย์เรารู้สึกเพลิดเพลินได้

คำว่า “ดนตรี” มีความหมายที่กว้างและหลากหลายมากนอกจากนี้ยังมีการนำดนตรีไปใช้ประกอบในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราคุ้นเคยเช่น การใช้ประกอบในภาพยนต์ เนื่องจากดนตรีนั้นสามารถนำไปเป็นพื้นฐานในการสร้างอารมณ์ลักษณะต่าง ๆ ของแต่ละฉากได้ พิธีกรรมทางศาสนาก็มีการนำดนตรีเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยจึงทำให้มีความขลัง ความน่าเชื่อถือ ความศรัทธา มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ดนตรีบางประเภทถูกนำไปใช้ในการเผยแพร่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มคนหรือเชื้อชาติ บางครั้งมนุษย์เราใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการแยกประเภทของมนุษย์ออกเป็นกลุ่ม ๆ เช่น วัยรุ่นในเมืองก็จะชอบฟังเพลงที่มีจังหวะหรือทำนองสนุก ๆ ครื้นเครงความรักหวานซึ้งส่วนวัยรุ่นที่อยู่ในชนบทก็มักจะชอบฟังประเภทเพลงเพื่อชีวิต เพลงลูกทุ่ง วัยหนุ่มสาวก็ชอบเพลงทำนองอ่อนหวานที่เกี่ยวกับความรัก สำหรับผู้ใหญ่ก็มักจะชอบฟังเพลงที่มีจังหวะหรือทำนองที่ฟังสบาย ๆ และชอบฟังเพลงที่คุ้นเคย

มนุษย์เราใช้ดนตรีเป็นเครื่องกระตุ้นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่นการขับรถ การเรียน การวิ่งเหยาะ ๆ ออกกำลังกาย เป็นต้น ที่กล่าวมาข้างต้นการใช้ดนตรีเหล่านี้มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือใช้ดนตรีเป็นส่วนประกอบในการทำร่วมกับกิจกรรมนั้น ๆส่วนจุดมุ่งหมายอื่นๆเป็นเรื่องรองลงมา

ก่อนที่จะมาเป็นดนตรีให้เราได้ยินได้ฟังกันจนกระทั่งปัจจุบันนี้มนุษย์ได้คิด ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาแล้วไม่น้อยกว่าพันปีดังนั้นดนตรีจึงถือได้เป็นสิ่งที่มีมาคู่กับมนุษย์เลยก็ว่าได้

มีดนตรีชนิดหนึ่งซึ่งแตกต่างจากที่ได้กล่าวมาแล้วซึ่งต้องใช้สติปัญญาสมาธิ ความตั้งใจในการฟังดนตรีชนิดนี้เรียกว่า “ดนตรีคลาสสิก” (Classical Music) ส่วนใหญ่มนุษย์ฟังดนตรีประเภทนี้ฟังเพราะความพอใจและความรู้สึกสนุกสนานในการฟังไม่มีเหตุผลหรือจุดมุ่งหมายใด ๆ

มนุษย์จำนวนมากไม่เข้าใจว่าดนตรีสำคัญอย่างไร ดนตรีจะมีค่าได้อย่างไรในเมื่อเราไม่สามารถใช้มันเพื่อทำอะไรได้เลยเพราะดนตรีเป็นการสื่อในลักษณะของนามธรรม โดยทั่วไปแล้วมนุษย์เราเข้าใจว่าสิ่งของส่วนใหญ่สำคัญเพราะเราจำเป็นต้องใช้มันในลักษณะของรูปธรรม แต่สำหรับดนตรีและงานศิลป์อื่น ๆ เช่น ภาพเขียน รูปปั้น ประติมากรรม บทกวี วรรณคดี ฯลฯ มีเพียงกลุ่มคนที่สนใจจริง ๆ เท่านั้นที่จะเข้าใจและซาบซึ้ง เพราะความสำคัญของสิ่งเหล่านั้นเป็นไปในแง่ของจิตวิทยา ไม่ใช่ในแง่ของการปฏิบัติ

เพราะเหตุใดมนุษย์เราจึงต้องสร้างสิ่งดังกล่าวขึ้นมาซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น การประเมินคุณค่าจำเป็นต้องใช้สติปัญญาและความพอใจของคนคนนั้นจึงจะรู้คุณค่า นอกจากนี้ไม่มีใครรู้แน่นอนว่าความพอใจมีมาตรฐานของการวัดอย่างไร ถึงแม้ว่าจะมีทฤษฎีที่น่าสนใจมากมายสำหรับศึกษาเปรียบเทียบ อย่างไรก็ดีสิ่งหนึ่งที่แน่นอนที่สุดคือ การแสดงออกเหล่านี้เป็นสิ่งที่แยกมนุษย์ออกจากสัตว์ เพราะสัตว์ไม่มีดนตรี ไม่มีความงามทางศิลป์ ฯลฯ

นอกจากนี้แล้วมนุษย์ยังแตกต่างจากสัตว์ตรงคำว่า “การดำรงอยู่” (Exist) และ “การดำรงชีวิต” (Live) มนุษย์เราไม่ต้องการเพียงแต่เพื่อดำรงชีวิตอยู่เท่านั้น แต่มนุษย์เรายังมีความต้องการสิ่งอื่น ๆ เช่น อยากรวยมากขึ้น อยากมีรถหรู ๆ ขับ อยากมีบ้านสวย ๆ อยู่ อยากมีความเป็นอยู่ที่สุขสบายมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามสัตว์ไม่ได้มีความต้องการอยากจะได้เช่นเดียวกับมนุษย์

ที่มา http://angsila.compsci.buu.ac.th/~it450084/music/music_app/music.htm

ดนตรีสื่อรักของพระเจ้า

ดนตรีสื่อรักของพระเจ้า


"ชนใดไม่มีดนตรีการ ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
  อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์
  หรืออุบายมุ่งร้ายฉมังนัก มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี
  และดวงใจยอมดำสกปรก ราวนรก ชนเช่นกล่าวมานี่
  ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้ เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ"
  
บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 เรื่อง เวนิสวานิส


จากบทพระราชนิพนธ์นี้ จะเห็นว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าชนชาติใดล้วนมีนิสัยอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน คือการชอบเสียงดนตรี ซึ่งอาจแตกต่างกันบ้างตรงแนวดนตรีซึ่งขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม สังคมชุมชนที่มนุษย์อาศัยอยู่ แนวดนตรีในโลกนี้มีมากมาย เช่น ดนตรีไทย ดนตรีร๊อค ดนตรีคลาสสิก ดนตรีแจ๊ส ดนตรีศาสนา ฯลฯ เป็นต้น และไม่ว่ามนุษย์จะมีอารมณ์ความรู้สึกเศร้า เหงา หรือมีความสุข แม้แต่ผู้ที่มีร่างกายพิการแขนขาด ขาขาด หูหนวก ตาบอด ก็ยังมีความพยายามที่จะฟัง ที่จะร้องเพลงหรือเล่นเครื่องดนตรีให้ได้ ดังเช่น เรน่า มาเรีย ซึ่งเธอเกิดมาไม่มีแขนและขาทั้งสองข้างก็ยาวไม่เท่ากัน เรน่าเรียนจบทางด้านดนตรี เธอมีความสุขมากเมื่อได้ร้องเพลงและบทเพลงที่เธอร้องออกมานั้นก็สามารถสื่อให้ผู้ฟังสัมผัสได้ว่าเธอมีความสุขอย่างมากที่ได้ร้องเพลง



ในพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ ปฐมกาล 1:27 ได้บันทึกว่า "พระเจ้าจึงทรงสร้างมนุษย์ขึ้นตามพระฉายาของพระองค์" พระฉายาของพระเจ้าอีกอย่างหนึ่งที่เราอาจมองข้ามไปคือความรักในเสียงดนตรี ในพระคัมภีร์มีหลายตอนที่เรียกร้องให้มนุษย์สรรเสริญพระเจ้าด้วยเสียงดนตรี ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลง เต้นรำ หรือ บรรเลงเครื่องดนตรี โดยเฑาะในพระธรรมสดุดีมีทั้งหมด 150 บท ซึ่งเป็นพระธรรมที่ยาวที่สุดในพระคัมภีร์ทั้งหมด 66 เล่ม เมื่อเราเปิดพระคัมภีร์ เราจะพบพระธรรมสดุดีอยู่กลางเล่มพอดี ผู้เขียนหลักของพระธรรมสดุดีคือกษัตริย์ดาวิด ผู้มีความสามารถทางด้านดนตรีเป็นเลิศและเป็นกษัตริย์ของอิสราเอลที่พระเจ้าทรงพอพระทัยมากที่สุดเนื่องจากท่านสรรเสริญพระเจ้าตลอดชีวิตของท่านทั้งในยาทุกข์และในยามสุข

เมื่อพระเจ้าตรัสว่าจะสร้างมนุษย์นั้นพระองค์ทรงสร้างเราให้เป็นเครื่องดนตรีที่วิเศษที่สุดคือมีหัวใจที่เต้นเป็นจังหวะ มีมือสำหรับปรบให้เป็นจังหวะ มีปากที่ส่งเสียงออกมาเป็นทำนอง เป็นต้น จุดประสงค์ก็เพื่อให้ทุกคนสรรเสริญพระเจ้า ให้มีความชื่นชมยินดีตลอดเวลา ดังในพระคัมภีร์ฟิลิปปี 4:4 กล่าวว่า "จงชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าทุกเวลา ข้าพเจ้าขอย้ำอีกครั้งว่า จงชื่นชมยินดีเถิด" การที่พระเจ้าทรงเรียกร้องให้สิ่งมีชีวิตทุกอย่างสรรเสริญพระองค์ (สดด. 150) ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของพระองค์เท่านั้น แต่เพื่อประโยชน์ต่อตัวของมนุษย์ผู้สรรเสริญพระองค์ด้วย คือ เมื่อเรามีความชื่นชมยินดีนั้น ร่างกายของเราก็จะหลั่งสาร Endorphin ออกมา ซึ่งช่วยให้ร่างกายของเราเกิดความผ่องคลายและช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่เกิดจากความเครียดได้นั่นเอง

ดังนั้น ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะมีความชื่นชมยินดีตลอดเวลา ให้ความสนใจต่อเสียงดนตรีมากขึ้น เพราะนั่นหมายถึงว่าเราเห็นความสำคัญต่อชีวิตและสุขภาพของเราด้วย


บทความโดย  อ.สุภัทรา แก้วควายงาม ผู้ช่วยอนุศาสก

ขอพระเจ้าอวยพระพร
เขียนโดย โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ ที่ 11:06

ประโยชน์ของดนตรีต่อเด็ก



ประโยชน์ของดนตรีต่อเด็ก
           ดนตรี  เป็นศิลปะแห่งเสียงที่มนุษยชาติได้บรรจงสร้างสรรค์ขึ้นไว้   นับตั้งแต่ที่มนุษย์ได้ยินเสียงจากธรรมชาติและพยายามลอกเลียนเสียง   จนกระทั่งสร้างเสียงดนตรีขึ้นได้   เสียงดนตรีอยู่คู่กับมนุษย์มาโดยตลอดไม่ว่าชนชาติใด  ภาษาใด  ความเชื่อทางศาสนาใด   ดนตรีสามารถเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมความเป็นอยู่    อันแสดงถึงความเจริญทางจิตใจและอารยะธรรมของมนุษย์ชนชาติต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีการศึกษาดนตรีในปัจจุบันได้รับการยอมรับให้เป็นวิชาหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาเด็ก     จากการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์พบว่า   ดนตรีมีผลต่อการพัฒนาสมองเด็ก เนื่องจากในสมองมีสารเคมีบางตัวที่มีผลต่อความรู้สึก   ความจำ  การเรียนรู้   ความคิดสร้างสรรค์  ฯลฯ   เราเรียกสารนี้ว่า   สารสื่อสัญญาณในสมอง (Neurotransmitter)   ได้แก่   สารเพื่อเกิดการกระตุ้น (excitatory) และสารเพื่อการยับยั้ง  (inhibitory)  สารเคมีทั้ง 2 ชุดนี้  ช่วยทำให้เด็กมีความตั้งใจ  สนใจการเรียนรู้  มีสมาธิ    สารเคมีนี้จะหลั่งมากเมื่อมีเด็กมีกิจกรรมที่ผ่อนคลาย  เช่น    การออกกำลังกาย   การได้รับคำชมเชย   การเล่นเป็นกลุ่ม   การร้องเพลง     การได้รับการสัมผัสที่อบอุ่น  การเล่นดนตรีและการเรียนศิลปะโดยไม่ถูกบังคับ    กระบวนการเรียนรู้ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนมีความสุข  เกิดจากความสมดุลของสมองทั้งสองซีก           เมื่อสารเอนโดฟีน (endophine)  หลั่งออกมา  ทำให้เด็กมีความสุข  เป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ของการเรียนรู้ที่มีคุณค่า    ถ้าสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้กระตุ้นให้เด็กมีความเครียด  กดดัน  แข่งขันเพื่อเอาชนะ  จะเป็นสารแอนดรีนาลีน (adrenalin)  ซึ่งเป็นการสร้างประสบการณ์เรียนรู้ที่ไม่พึงปรารถนา    และสร้างความทรงจำที่ไม่ดีให้กับเด็ก  แนวคิดของความจำเป็นในการเรียนดนตรีสำหรับเด็กได้รับสำคัญมากขึ้น  ด้วยทฤษฎีความหลากหลายของสติปัญญา (Theory  of  Multiple  Intelligences)  ซึ่ง โฮเวิร์ด   การ์ดเนอร์ (Howard  Gardner) ได้ศึกษาและจำแนกความเก่งของคนไว้ 7 ประการหลัก  ได้แก่  ด้านภาษา (verbal/linguistic)  ด้านดนตรี/ จังหวะ (musical/rhythmic) ด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ (logical/ mathematical)  ด้านการเคลื่อนไหว (body/kinesthetic) ด้านศิลปะ/มิติสัมพันธ์ (visual/spatial)  ด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล/การสื่อสาร (interpersonal) และด้านความรู้สึก/ความลึกซึ้งภายในจิตใจ (intrapersonal)  ความเก่งหรือความสามารถนี้มีรูปแบบการพัฒนาเฉพาะตัว  มีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามสังคม  และวัฒนธรรม  แนวคิดนี้แตกต่างไปจากเรื่อง  IQ  หรือ  ความฉลาด  ซึ่งความเชื่อดั้งเดิมถือว่า  ความฉลาดวัดได้จากการทดสอบในเด็กเพียงบางวิชา  เช่น  คณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์  ภาษาศาสตร์     แต่ปัจจุบัน  คำจำกัดความว่า  “ ฉลาด”  “เก่ง”  “ พรสวรรค์ " ได้เปลี่ยนไปแล้ว    ดังเช่น  นักกีฬาชื่อดัง  เช่น  ภราดร  ศรีชาพันธ์    หรือ  นักดนตรีอย่าง  วาเนสซ่า  เมย์   ก็ถือได้ว่าเป็นอัจริยะทางด้านต่าง ๆ  ที่เขาและเธอถนัด  ซึ่งสามารถทำได้ดีกว่าคนธรรมดาทั่วไป    และเมื่อเรามองถึงภูมิหลังของบุคคลอัจฉริยะทั้งหลายจะพบว่า  เขาเหล่านั้นไม่ได้บังเอิญเกิดมาเก่งเพียงอย่างเดียว   แต่ได้รับการส่งเสริมอย่างถูกต้องและต่อเนื่องมาตั้งแต่เยาว์วัย  จากครอบครัว พ่อ แม่  ญาติพี่น้อง     ครู  อาจารย์  โรงเรียน  และสังคม   ที่เอื้อหนุนให้ความเก่งของเขาเพิ่มพูนขึ้น  จนสามารถเปลี่ยนความถนัดให้เป็นความสามารถพิเศษได้
ความสามารถพิเศษทางดนตรีของมนุษย์   เป็นศักยภาพที่พบมากในคนที่เล่นดนตรี  ศิลปินดนตรี  นักแต่งเพลง  ผู้ควบคุมวง   ผู้เรียบเรียงเสียงประสาน   นักร้อง   นักเต้นรำ   ซึ่งบุคคลพวกนี้มีทักษะทางดนตรีในขั้นพิเศษกว่าคนทั่วไป   เช่น    เมื่อฟังเพลงแล้วสามารถจับจังหวะได้   สามารถบอกระดับเสียง   เขียนเป็นโน้ตดนตรี    ตีความบทเพลง    รับรู้พลังของดนตรี    ซึ่งบุคคลทั่วไปอาจฟังแค่เพลงนั้นไพเราะหรือถูกใจเพียงผิวเผิน    แต่อย่างไรก็ดี   ความสามารถทางดนตรีย่อมพัฒนาให้ดีขึ้นได้ด้วยการฝึกฝน  เช่น   ฝึกเล่นดนตรี   ฝึกร้องเพลง     ฝึกอ่านโน้ต  ฝึกฟังเพลงมาก ๆ    การฝึกฝนทางด้านดนตรีที่ดี  ผู้เรียนต้องมีแรงจูงใจ  มีความอยากเรียนด้วยตนเอง   มีความสุขเมื่อได้ทำกิจกรรมดนตรี   มีความต้องการแสดงออกทางดนตรี    
               ดังนั้น พ่อ แม่  ผู้ปกครองควรสร้างรากฐานแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก ยังเล็ก   ดังเช่นคำพูดที่ว่า “กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว”เพราะว่าในช่วงแรกของชีวิต   เป็นช่วงแห่งการเรียนรู้ที่ดีที่สุด  เด็กที่ได้รับการเตรียมพร้อมโดยพ่อ  แม่  ก่อนการเข้าเรียนในโรงเรียนย่อมได้เปรียบเด็กอื่น ๆ  ที่มีกิจกรรมที่บ้านด้วยการดูโทรทัศน์  หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์    การเรียนดนตรีก็เช่นเดียวกัน   มีผู้ปกครองส่วนมากที่เข้าใจกันว่า  เมื่อส่งลูกเข้าเรียนพิเศษในโรงเรียนดนตรีก็หวังว่าจะให้เด็กประสบความสำเร็จทางดนตรีเช่นเดียวกับ  โมซารท์ (Mozart) คีตกวีเอกของโลก   แต่ไม่ได้สร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ดนตรีที่บ้าน  เช่น  การเปิดเพลงให้ฟัง   การพาเด็กไปชมการแสดงดนตรี   ซึ่งหมายถึงประเภทของดนตรีที่ฟังด้วย  เพราะดนตรีที่ส่งเสริมความคิดที่ดีต้องเป็นดนตรีที่กลั่นกรองมาดี        เช่น  ดนตรีคลาสสิก  หรือ  ดนตรีพื้นบ้าน   ดนตรีไทย  ดนตรีที่ไม่ได้รับการปรุงแต่งด้วยเทคโนโลยีจนผิดธรรมชาติ
                 มีงานวิจัยทางดนตรีหลายชิ้นในต่างประเทศพบว่า  ถ้าเด็กทารกได้ฟังเพลงคลาสสิกที่คัดสรรแล้ว  เมื่อเด็กโตขึ้นจะมีพัฒนาการทั้งร่างกายและสมองเร็วกว่าเด็กปรกติ       คือ   ความสามารถทางการได้ยิน  การใช้กล้ามเนื้อ  การพูด  การอ่าน  ความมีสมาธิ   การตอบสนองโดยทั่วไปดีกว่าเด็กปรกติ   งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่มีชื่อเสียงมีชื่อว่า  Mozart  Effect  ซึ่งนำเอาบทประพันธ์ของคีตกวี    โมซาร์ทมาทดลองให้เด็กฟัง   และสรุปบางตัวอย่างบทเพลงที่ควรให้เด็กฟัง   ได้แก่  Divertimento  K 136 ,  Opera(Don  Giovanni)-Deh  Vieni  Alla  Finestra ,  Quintet  for  clarinet  A  Major  K 581-2nd  Movement , Sonata  for  2 pianos  D  major  K 448-2nd  Movement  ฯลฯ     ผลงานนี้มีขายทั่วไป   และได้ทำทั้งรูปแบบ  CD  และ  DVD  ซึ่งมีภาพการ์ตูนประกอบบทเพลงให้เด็กได้ฟังเพื่อความเพลิดเพลินด้วย    ผู้เขียนเคยเห็นผลงานเหล่านี้บางส่วนมีขายในศูนย์การค้าในประเทศไทยแล้วด้วย     ดังนั้นสิ่งแรกที่พ่อ  แม่   ควรเริ่มก่อนการส่งเด็กเข้าเรียนดนตรี  นั่นคือ  การสร้างสภาพแวดล้อมทางดนตรีที่ดี   ด้วยการฟังดนตรีที่ดีตั้งแต่วัยทารก     นักวิชาการบางท่านเชื่อว่า  ควรฟังดนตรีตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์มารดาด้วยซ้ำไป  


โดย  ประพันธ์ศักดิ์   พุ่มอินทร์