วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ดนตรีไทยกับคนรุ่นใหม่ ทางขนานจริงหรือ?

ดนตรีไทยกับคนรุ่นใหม่ ทางขนานจริงหรือ?





เมื่อกล่าวถึงดนตรีไทยหลายท่านคิดคล้ายกันว่าเป็นเรื่องล้าสมัย เป็นเพียงเครื่องประกอบในงานพิธี หรือเป็นเอกสิทธิ์ความบันเทิงของคนรุ่นเก่าที่เข้ากันได้ยากกับดนตรีสากลตามรูปแบบของอารยธรรมตะวันตก
          แม้กระแสโลกาภิวัตน์จะเป็นเหตุให้วัฒนธรรมตะวันตกหลั่งไหลเข้าสู่สังคมไทยอย่างไร้ขีดจำกัด พฤติกรรมการบริโภคดนตรีของคนส่วนใหญ่เปลี่ยนไป แต่ยังมีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่ตระหนักในเอกลักษณ์ของความเป็นดนตรีไทย แม้บางคนอาจคิดว่าดนตรีไทยเปรียบเสมือนวัฒนธรรมที่ (ใกล้) ตายแล้วก็ตาม
           นับว่าเป็นความโชคดีของลูกหลานไทย ที่สมเด็จพระเทพฯ ผู้ซึ่งมีสายพระเนตรยาวไกลได้ทรงจุดประกาย โดยทรงเป็นผู้นำเพื่อให้คนไทยทุกคนได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของคนตรีไทยอันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ แม้ไม่สามารถสร้างกระแสให้ทัดเทียมโลกาภิวัตน์ได้ แต่ก็ก่อให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าทางดนตรีไทย ทั้งยังก่อให้เกิดปณิธานร่วมกันของเหล่าพสกนิกร ในอันที่จะดำรงและส่งเสริมคุณค่านั้น ให้แพร่หลายสู่ลูกหลาน คนรุ่นใหม่ สืบไป

            ทำไมคนรุ่นใหม่จึงไม่สนใจดนตรีไทย?
          โลกาภิวัตน์ มิได้เป็นอุปสรรคสำคัญระหว่างดนตรีไทยกับคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ในยุคนี้ฉลาดพอที่จะเลือกสิ่งที่ดีให้กับตัวเอง แต่เนื่องเพราะคนรุ่นใหม่ยังขาดการเรียนรู้ใน 3 ประการหลัก คือ การปลูกฝังทัศนคติที่ดีจากคนรุ่นเก่า รูปแบบการนำเสนอความรู้ที่ตอบสนองต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ตามวัยของคนรุ่นใหม่ และแบบอย่างที่ดีจากสื่อมวลชน หรือผู้ซึ่งสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้โดยง่าย

           คนรุ่นใหม่จะสนใจดนตรีไทยได้อย่างไร?
        จากที่ได้กล่าวแล้วในตอนต้น สรุปได้ว่าอุปสรรค 2 ใน 3 เกิดจากพฤติกรรมของคนรุ่นเก่า ทางออกที่อาจทำให้ดนตรีไทยมีโอกาสเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น จึงสรุปได้ ดังนี้

*อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์

           1. ปลูกฝังทัศนคติที่ดีจากคนรุ่นเก่า
        คนรุ่นเก่าอาจต้องทบทวนทัศนคติของตนก่อนที่จะปลูกฝังให้แก่ลูกหลานคนรุ่นใหม่
        ประการแรก คนรุ่นเก่าที่มีความรู้ความสามารถ ควรต้องตระหนักว่าดนตรีไทยเป็นสมบัติของคนรุ่นใหม่ที่คนรุ่นเก่ายืมไปใช้ โดยพร้อมที่จะส่งมอบกลับคืนในเวลาอันควร มิใช่ส่งคืนด้วยการส่งเสริมให้ลูกหลานเรียนเปียโน ไวโอลิน หรือฝึกหัดร้องเพลงสากล
ในส่วนของทัศนคตินี้ ควรได้รับการปลูกฝังจากพ่อแม่ ครู หรือผู้ปกครอง โดยปลูกฝังให้เกิดแนวคิดให้มีทัศนคติที่ดีต่อดนตรีและต่อคนที่เล่นดนตรีไทย ตั้งแต่ในวัยเยาว์
        ประการที่สอง คนรุ่นเก่าควรทบทวนความเหมาะสมในการใช้คำว่า อนุรักษ์ หรือ สืบสาน เพื่อรณรงค์ให้ดนตรีไทยเข้าถึงคนรุ่นใหม่และยั่งยืนสู่คนรุ่นใหม่กว่าต่อไป
        คำว่า อนุรักษ์ ถูกใช้คู่กับดนตรีไทยในยุคโลกาภิวัตน์อยู่บ่อยๆ ใครที่กล่าวถึงดนตรีไทย ก็มักมีคำนี้พ่วงอยู่ด้วยเสมอ ทำนองว่าให้รักษาดนตรีไทยไว้ให้คงอยู่ดังเดิมต่อไป กล่าวคือ มีมาอย่างไรก็ให้มีต่อไปอย่างนั้น ผู้เขียนคิดว่าการรักษาดนตรีไทยในรูปแบบอนุรักษ์ อาจไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะหากเป็นเช่นนั้น ดนตรีไทยก็คงต้องเป็นดนตรีสำหรับคนรุ่นเก่าต่อไป และมีอนาคตเพียงแค่ช่วงชีวิตของคนรุ่นเก่าเท่านั้น ในที่สุดก็ต้องกลายเป็นดนตรีบนกระดาษ หรือเครื่องเล่นที่ตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์ (เป็นการอนุรักษ์ที่แท้จริง)
       ดังนั้น การปรับเปลี่ยนแนวดนตรีให้เข้ากับยุคสมัย จึงน่าจะเหมาะสมและเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยให้ดนตรีไทยสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ และรุ่นต่อๆ ไปได้
       สืบ มีความหมายสองประการ คือ สืบสาว และ สืบทอด
       สืบสาว หมายถึง การสืบค้นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต เช่นประเภทของเครื่องดนตรี
ความเป็นมา ความดีงาม ความเป็นเอกลักษณ์ของดนตรีไทย ฯลฯ
       สืบทอด หมายถึง การส่งต่อเรื่องราวในอดีตไปสู่อนาคต เช่นนำความดีงาม ความเป็น
เอกลักษณ์ของดนตรีไทย ฯลฯ สู่ลูกหลานคนรุ่นใหม่และรุ่นต่อ ๆ ไป
       สาน หมายถึงการปรุงแต่ง เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่ดีกว่า โดยไม่ทำให้เอกลักษณ์เดิมสูญหาย ด้วยเหตุนี้คำว่า สืบสาน จึงน่าจะตอบสนองกับกระแสสังคมปัจจุบันและเข้ากันได้กับคนรุ่นใหม่ ผู้มีหน้าที่รักษาและสืบทอดดนตรีไทยสู่อนุชนคนรุ่นต่อไป

          2. นำเสนอความรู้ที่ตอบสนองต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ตามวัยของคนรุ่นใหม่
         ผู้เขียนเป็นคนรุ่นใหม่ เมื่อครั้งที่ได้รับมอบหมายให้เขียนบทความนี้ ตอนแรกรู้สึกเครียด เนื่องจากมีความรู้เรื่องดนตรีไทยน้อยมาก กอปรกับมีเวลาที่จำกัดจึงเลือกใช้วิธีสอบถามจากผู้รู้ในศาสตร์แขนงนี้หลายท่าน แต่เพราะท่านเหล่านั้นมีความรู้มาก จึงได้กรุณามอบเอกสารมาให้ผู้เขียนนำไปศึกษา (อ่านเอง) ปึกใหญ่ (หนาประมาณ 2 นิ้ว) ซึ่งผู้เขียนได้พิจารณาเอกสารนั้นแล้วก็มีอาการเครียดเพิ่มขึ้น และคิดในใจว่า ทำไมการเรียนดนตรีไทยจึงได้ยากลำบากเช่นนี้ ช่างไม่เหมาะกับวัยรุ่น คนรุ่นใหม่อย่างผมเสียเลย แล้วก็เกิดอาการปลงว่าต้องไม่เสร็จตามกำหนดแน่นอน
         ผู้เขียนจึงใช้วิธีสัมภาษณ์สดจากผู้ที่พอมีความรู้ด้านดนตรีไทยน้อยลงมานิด (แต่มากกว่าผู้เขียนหลายเท่า) ซึ่งก็ได้ผล เพราะนอกจากผู้เขียนจะได้รับความรู้ด้านดนตรีไทยเพิ่มขึ้นจนทำให้สามารถตระหนักถึงคุณค่าของดนตรีไทยได้แล้ว ผู้เขียนยังได้รับแนวคิดที่เป็นประโยชน์ ได้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคในการเรียนรู้ดนตรีไทยเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก
         การนำเสนอองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับสภาพการเรียนรู้ตามวัยรุ่นคนรุ่นใหม่ ถือเป็นขบวนการสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการปลูกฝังทัศนคติ เพราะทัศนคติเป็นปัจจัยที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องสู่อนาคต เป็นผลให้เกิดการสืบสานทางวัฒนธรรมที่ยาวนาน ส่วนการนำเสนอองค์ความรู้ที่เหมาะสมก่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีสำหรับการเรียนรู้ในปัจจุบันซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการเรียนรู้ขั้นสูงต่อไป
         ความเหมาะสมดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นได้ หากอาศัยผู้มีความรู้ความสามารถที่มีประสบการณ์ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ก่อให้เกิดทักษะการเรียนรู้ และเสริมสร้างความเข้าใจที่เหมาะสมกับสภาพธรรมชาติของคนรุ่นใหม่
        นอกเหนือจากที่กล่าว ผู้เขียนได้สรุปแนวความคิดที่เกี่ยวกับสื่อความรู้ที่อาจทำให้คนรุ่นใหม่สนใจดนตรีไทยเพิ่มมากขึ้น ดังนี้
       -  มีสื่อการเรียนการสอนที่ประหยัด หาง่าย และสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
       -  ปรับปรุงให้ดนตรีไทยเป็นดนตรีร่วมสมัยที่มีรูปแบบในแนวผสมผสาน เช่น แนวดนตรี
ของวงฟองน้ำ หรือวงดอกหญ้าไหว เป็นต้น
       -  จัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมด้านดนตรีไทยในสถานศึกษา
       -  กำหนดให้มีการเรียนการสอนดนตรีไทยในสถานศึกษา โดยกำหนดให้เป็นหลักสูตรบังคับแบบต่อเนื่อง ในระดับประถม และมัธยมศึกษา

          3. แบบอย่างที่ดีจากสื่อมวลชน หรือผู้ซึ่งสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้โดยง่าย
        ลักษณะเฉพาะประการหนึ่งของวัยรุ่นคนรุ่นใหม่คือ พฤติกรรมการเลียนแบบ ตามกระแสนิยม หรือตามดาราที่ตนชื่นชอบ โดยมีสื่อมวลชนเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญ
        ดังนั้นหากดารา สื่อมวลชน สถานบันเทิง หรือที่ชุมชนสาธารณะที่อยู่ในกระแสนิยมของคนรุ่นใหม่ เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือรถโดยสารประจำทาง ได้หันมาให้ความสำคัญกับดนตรีไทยก็จะสามารถสร้างแรงจูงใจ และค่านิยมให้กับคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจดนตรีไทยเพิ่มมากขึ้น

สรุป

แม้ว่าเราจะได้ยินได้ฟังเสียงจากเครื่องดนตรีไทยไม่มากเท่ากับเครื่องดนตรีสากล ผู้เขียนก็ยังคงเชื่อว่าดนตรีไทยจะไม่หายไปจากสังคมไทย และคิดว่าจะไม่มีดนตรีใดมาทำให้ดนตรีไทยตายไปจากสังคมไทยได้ เพียงแต่ดนตรีเหล่านั้นได้ดึงดูดความสนใจไปจากคนรุ่นใหม่เพียงชั่วคราวเท่านั้น
ตราบใดที่ดนตรีไทยยังคงสะท้อนความอ่อนโยน ฟังสบาย ไม่เร่งเร้า และตราบใดที่ทุกคนยังคงมีทัศนคติที่ดีต่อดนตรีไทย และทัศนคติที่ดีต่อคนที่เล่นดนตรีไทย ดนตรีไทยก็จะยังคงอยู่และเข้าถึงคนทุกรุ่น แม้กระทั่งคนรุ่นใหม่ที่แม้จะดูคล้ายเป็นเส้นขนานก็ตาม


ที่มา: ธงชัย สิทธิกรณ์. "ดนตรีไทยกับคนรุ่นใหม่ทางขนานจริงหรือ?". ดนตรีไทยอุดมศึกษา. ครั้งที่ 30 พ.ศ. 2542. มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น