วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พระเจ้าอยู่หัวกับการดนตรี

พระเจ้าอยู่หัวกับการดนตรี



 พระเจ้าอยู่หัวกับการดนตรี


บรรยายในชั้นเรียนปริญญาเอก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล   โดย อาจารย์สันทัด  ตัณฑนันทน์     สรุปคำบรรยายโดย ประพันธ์ศักดิ์  พุ่มอินทร์
(หากมีความประสงค์นำบทความเพื่อการเผยแพร่ กรุณาอ้างถึง อาจารย์สันทัด  ตัณฑนันทน์  เป็นผู้บรรยายด้วย)



                อาจารย์สันทัด   ตัณฑนันทน์   ท่านเริ่มชีวิตการเป็นนักดนตรีด้วยการเล่นดนตรีในชมรมดนตรี  ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   และได้มีโอกาสเข้าไปเล่นดนตรีในรายการ “ดนตรีนักเรียนวันศุกร์”  ของสถานีวิทยุ อส. พระราชวัง   โดยท่านได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 9  ในห้องทรงดนตรี  และในหลวงทรงรับสั่งว่า  จะมาเล่นดนตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงเกิด  การทรงดนตรีตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ  เป็นประจำทุกปีตั้งแต่  พ.ศ.  2501 จนถึง  ปี พ.ศ. 2516  จึงได้ยกเลิกไปเนื่องจากเหตุการณ์การเมืองไม่ปรกติ   ดังนั้น   อาจารย์สันทัด   ตัณฑนันทน์  จึงได้มีโอกาสร่วมบรรเลงดนตรีกับพระองค์ท่านในเวลาต่อมาในวงดนตรี  อส.  และตามเสด็จถวายงานอย่างใกล้ชิด  
                    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   รัชกาลที่ 9  ทรงมีพระราชดำริให้ทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนขึ้น  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ได้ถูกรวบรวมและนำเสนอให้เด็กไทยเข้าใจได้โดยง่าย   ซึ่งแนวความคิดนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งต่อเยาวชนไทย  เพราะถ้าเนื้อหาวิชาต่าง ๆ  เป็นภาษาอังกฤษเยาวชนไทยก็ยากที่จะเข้าถึงความรู้เหล่านั้น   ซึ่งประเทศแถบเอเซียที่พัฒนาอย่างรวดเร็วส่วนใหญ่จะนำความรู้ภาคภาษาอังกฤษมาแปลเป็นภาษาของตนเอง  เช่น  ประเทศญี่ปุ่น   ประเทศจีน   แม้แต่วิชาการดนตรีก็ถูกนำมาแปลจนหมดสิ้น   ทำให้เด็กประเทศนั้นได้รับความรู้อย่างมาก  และความก้าวหน้าทางการศึกษาส่งผลให้การพัฒนาประเทศเกิดความรุ่งเรืองอย่างยิ่ง
                ทางด้านการส่งเสริมให้ประชาชนและเยาวชนรักการอ่าน  การศึกษาค้นคว้า   ท่านทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งห้องสมุดประชาชนขึ้น  ดังที่ห้องสมุดประชาชนสวนลุมพินี   ซึ่งท่านยกตัวอย่างประธานาธิบดีลินคอร์นของประเทศสหรัฐอเมริกา  ไม่ได้มีโอกาสเรียนในโรงเรียนสามัญ  แต่อาศัยการเรียนรู้จากห้องสมุดสาธารณะ  จนมีความรู้ความเชี่ยวชาญ     โครงการพระราชดำริของท่านหลายโครงการไม่ได้อาศัยเงินงบประมาณมากแต่อย่างใด   ตัวอย่างเช่น  โครงการจราจรเคลื่อนที่เร็ว (ม้าเร็ว)  ซึ่งในหลวงและสมเด็จย่า  ท่านได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์มา 2 ล้านบาทเพื่อให้ซื้อรถมอเตอร์ไซด์  และฝึกงานให้ตำรวจจราจรสามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว   ไปปลดล็อคการจราจรของกรุงเทพ ฯ   นอกจากนั้นยังฝึกให้มีความสามารถในการปฐมพยาบาลผู้ป่วย   การทำคลอดกรณีฉุกเฉิน   ซึ่งเป็นการลงทุนโดยการพัฒนาความรู้ความสามารถและเพิ่มสมรรถนะในการทำงานของตำรวจ   เป็นโครงการที่ยังเห็นผลปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้
               


             พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 9 เคยมีรับสั่งกับคณะนักดนตรี อส. ว่า  ดนตรีแจ๊ส เล่นไปเถอะดี   ดีต่อตัวเองด้วย    อาจารย์สันทัด ตัณฑนันทน์  ท่านได้กลับไปคิดทบทวนข้อความโดยละเอียดแล้วถึงเข้าใจความหมายว่า   ครั้งหนึ่ง  ดร.สายสุรี   จุติกุล   ซึ่งท่านเป็นนักดนตรีที่ชอบแนวดนตรีคลาสสิกมากกล่าวว่า   ดนตรีแจ๊สต้องใช้ปฏิภาณในทันทีทันใด    การเล่นอย่างมีปฏิภาณก็คือการคิดอย่างมีสติสัมปชัญญะ   ซึ่งถ้าจะกล่าวไปแล้ว  ดนตรีแจ๊สแม้จะเป็นดนตรีในวัฒนธรรมของชาวอเมริกา   แต่ชาวรัสเซียซึ่งถือว่าเป็นคนละขั้วในทางความคิดกับคนอเมริกันก็นิยมเล่นดนตรีแจ๊สเช่นเดียวกัน   ภาษาของดนตรีแจ๊สเป็น  Suddenly  Expression  การคิดแบบมีปฏิภาณเป็นสิ่งสำคัญมากในการดำรงชีวิตของคนเรา   แม้แต่ในเรื่องสามก๊ก  ขงเบ้งได้กล่าวว่า  อาจารย์บังทองผู้นี้มีความสามารถมากกว่าข้าพเจ้าถึง 10 เท่า   แต่ในเชิงของการยกย่องแน่นอนว่าผู้คนต้องยกย่องขงเบ้งมากกว่าเพราะมีปฏิภาณไหวพริบที่เหนือกว่ามาก     การจัดระเบียบของความคิดหรือกรอบความคิดจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก    ดนตรีแจ๊สกับดนตรีไทยก็มีส่วนละม้ายกันตรงที่ต้องใช้ปฏิภาณในการเล่นเหมือนกัน  ดนตรีไทยมีทำนองของฆ้องวงใหญ่เป็นหลัก   แต่ในการเล่นแต่ละเครื่องก็อาศัยการแปรทำนองไปเรื่อย ๆ   เป็นการใช้ความคิดในปัจจุบันเพื่อสร้างทำนองแปรผันไปตามความสามารถของผู้เล่น   ซึ่งอาจเปรียบเทียบเครื่องดนตรีไทยที่สร้างทำนองเช่น ระนาดเอก เหมือนกับคลาริเน็ตในวงแจ๊ส   ระนาดทุ้มเหมือนทรอมโบน  เพราะสร้างทำนองขัด ๆ หรือทำนองตลกคล้ายกัน   ฆ้องวงเล็กเหมือนเป็นเทเนอร์แซกโซโฟน   ดนตรีไทยมีการแปรทำนองลูกฆ้องตลอดเวลา  เพราะถ้าเล่นโดยจำแบบครูอย่างเดียวก็จะไม่สนุก  นี่เป็นความพิเศษของดนตรีไทยที่มีความเป็นแจ๊สมาเป็นพันปี    ดังนั้นเราต้องเล่นให้ถึงขั้นการสร้างสรรค์ (Creative)  เพราะนี่เป็นของดีของเรา  ความคิดของมนุษย์ในเรื่องปฏิภาณสร้างสรรค์จึงไม่ได้แตกต่างกันไปตามชาติและเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ



                การที่ในหลวงท่านทรงดนตรีอยู่อย่างสม่ำเสมอ  เป็นการฝึกจิตให้สามารถสั่งงานได้ทันที   นอกเหนือจากการผ่อนคลายความเครียดจากพระราชกรณียกิจตลอดทั้งวันแล้ว  ท่านก็ทรงดนตรีเพื่อเป็นการสร้างพลังจิตด้วย   ตรงกับพุทธศาสนาที่ว่าด้วยเรื่อง  สติปัตฐาน ที่แม่ชีวัดอรุณกล่าวว่า   เวลาฝึกจิต ให้นึกถึงแต่ปัจจุบัน อดีตไม่กำหนด   อนาคตไม่คิดถึง  ตามความคิดของเราให้เท่าทันในปัจจุบัน   การเล่นดนตรีแบบ  Improvisation  ก็เป็นการฝึกจิตในปัจจุบัน  ไม่สามารถวางแผนล่วงหน้าได้  เป็นการใช้งานความคิดในปัจจุบันจริง ๆ ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่ง
                ทางด้านพระราชอัจฉริยภาพทางการพระราชนิพนธ์เพลงของในหลวงนั้น  มีครบทุกแนวดนตรี  เช่น  แนวคลาสสิกก็มีเรื่อง  มโนราห์  ซึ่งเป็นดนตรีประกอบบัลเล่ท์   นอกนั้นก็เป็นแนวดนตรีแจ๊สเป็นส่วนใหญ่   เพลงพระราชนิพนธ์ของท่านทุกเพลงจะมีโครงสร้างที่สมบูรณ์แบบ  ซึ่งสามารถนำไปบรรเลงได้ทุกรูปแบบ    ถ้าจะลองวิเคราะห์โครงสร้างตามหลักทฤษฎีดนตรีจะพบว่า  โครงสร้างที่นักประพันธ์เพลงส่วนใหญ่ใช้กันจะเป็น   ABA , AABA  , ABAC , ABCB  แต่ในบทเพลงพระราชนิพนธ์จะมีโครงสร้างเพลงที่ไม่ค่อยซ้ำกัน  ซึ่งท่านได้ใส่ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ลงไปเสมอ   ดังนั้น  เมื่อท่านทรงนำเพลงพระราชนิพนธ์ไปบรรเลงร่วมกับนักดนตรีแจ๊สระดับชั้นนำของโลก  ดังที่เราเห็นได้จาก  ภาพยนตร์ส่วนพระองค์และภาพยนตร์เรื่อง  คีตราชัน   จะพบว่านักดนตรีทุกคนที่ร่วมบรรเลงพยายามใส่ความคิดสร้างสรรค์   และบรรเลงออกมาผสมเข้ากันอย่างที่เราไม่สามารถจับได้ว่า  เสียงเครื่องดนตรีไหนที่พระองค์ท่านกำลังบรรเลงอยู่   เพราะความสามารถพระองค์เทียบเท่านักดนตรีระดับโลกเหล่านั้น    คล้ายกับที่  มรว.คึกฤทธิ์   ปราโมท  กล่าวไว้ว่า  เล่นกลอนต้องฝีปากเสมอกันถึงจะเพราะ
                เพลงพระราชนิพนธ์ที่มีเนื้อเพลงก่อนแล้วมีทำนองตามมามีหลังจะมีน้อยเพลง    เช่น  เราสู้  (เนื้อร้องโดย  สมภพ  จันทรประภา) ,  รัก  (เนื้อร้องโดย  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ) ,  ความฝันอันสูงสุด (เนื้อร้องโดย  ท่านผู้หญิงมณีรัตน์   บุญนาค)  นอกนั้นจะเป็นเพลงที่มีทำนองก่อนแล้วประพันธ์เนื้อเพลงทีหลัง  การที่ท่านทรงพระราชนิพนธ์ทำนองหลังจากมีเนื้อร้องเกิดขึ้นก่อนนั้นเป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้เพลงไพเราะ   เนื่องด้วยทำนองจะถูกอักขรคอยกำกับอยู่   แต่ท่านก็ทรงพระราชนิพนธ์ได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยการใช้ปฏิภาณ  อย่างเพลงรัก  ที่ท่านทรงเป่าแซกโซโฟน  ในขณะที่ทอดพระเนตรเนื้อร้องไปด้วย   แล้วให้อาจารย์แมนรัตน์   ศรีกรานนท์  เป็นผู้ถอดโน้ตออกมา  นี่เป็นพระราชอัจฉริยภาพที่น้อยคนนักจะรู้เรื่องนี้


 โดย อาจารย์สันทัด  ตัณฑนันทน์     สรุปคำบรรยายโดย ประพันธ์ศักดิ์  พุ่มอินทร์
(หากมีความประสงค์นำบทความเพื่อการเผยแพร่ กรุณาอ้างถึง อาจารย์สันทัด  ตัณฑนันทน์  เป็นผู้บรรยายด้วย)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น