วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

กิจกรรมดนตรีเพื่อเยาวชน

กิจกรรมดนตรีเพื่อเยาวชน

 ในสภาวะปัจจุบัน   ครอบครัวรุ่นใหม่เริ่มเข้าใจถึงความสำคัญของการเรียนดนตรี  พ่อ แม่  ครอบครัวคนรุ่นใหม่ที่รักลูกดังดวงใจตั้งความหวังให้ลูกเติบใหญ่มีชีวิตที่ดี  มีการสนับสนุนให้  เด็ก ๆ ได้เรียนดนตรีตั้งแต่เล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมหรือปฏิบัติเครื่องดนตรี  มีความเตรียมความพร้อมทุก ๆ ด้านตั้งแต่ก่อนจะเกิดเสียอีก  ทั้งทางด้านสภาพแวดล้อม  ด้านการศึกษาในระบบโรงเรียน  และการศึกษานอกระบบ

                     สังคมโลกาภิวัฒน์ไร้พรมแดนวัฒนธรรมต่าง ๆ ได้ถ่ายเทหมุนเวียนรวดเร็วทั้งแง่บวกและแง่ลบ  เด็ก ๆ ในสังคมปัจจุบันได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  เด็ก ๆ ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างก่อนเวลาที่เด็ก ๆ ไม่ควรรู้  ไม่ควรเห็น  จนเกิดปัญหาสังคมต่าง ๆ เช่น  นักเรียนเป็นนักเลง  การถูกล่วงละเมิดทางเพศ  เด็กติดเกมส์คอมพิวเตอร์  เด็กหนีเรียนหรือไม่สนใจเรียน

                      ทุกวันนี้  เด็ก ๆ ถูกทำให้รู้สึกว่าไร้ศักยภาพ  และไร้ศักดิ์ศรี  เพราะโครงสร้างอำนาจและโครงสร้างเงิน  องค์กรต่าง ๆ ในสังคมล้วนเป็นองค์กรอำนาจ  ไม่ว่าเป็นองค์กรการเมือง  ทางราชการ  ทางการศึกษา  ทางธุรกิจ  และทางศาสนา  นอกจากนั้นยังมีโครงสร้างอำนาจเงินที่กดทับคนทั้งหมด  ในโครงสร้างอำนาจนี้ก่อให้เกิดความบีบคั้น  ความไร้ศักยภาพ  ความหงุดหงิดรำคาญใจ  และความรู้สึกสิ้นหวัง (hopelessness) ทั้งหมดล้วนทำลายสุขภาพจิต  ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  และศักยภาพแห่งความสร้างสรรค์



INN  โครงสร้างแห่งความสุขและความสร้างสรรค์

                INN  เป็นโครงสร้างที่จะทำให้หลุดจากความบีบคั้นดังกล่าวไปสู่ความสุขและความสร้างสรรค์

                I =  Individual    หรือ  ปัจเจกบุคคล

                                เด็ก ๆ แต่ละคนมีคุณค่า  มีศักดิ์ศรี  และมีศักยภาพ  เราต้องตั้งใจของเราไว้ให้ดี  มีความเพียรอันบริสุทธิ์  มีความสุขจากการแสวงหาความรู้และการทำความดี  เราอย่าติดในยศศักดิ์  อัครฐานหรือตำแหน่งอันเป็น “รูปแบบ”  (Form)  ต้องไปสู่แก่นสัจจะ  คือความเป็นมนุษย์ของแต่ละคน  คนแต่ละคนถ้ามีศักดิ์ศรีและทำดีจะมีผลมาก  ถ้าเราระลึกรู้อย่างนี้จะประสบอิสรภาพ  ความสุขและความสร้างสรรค์

                N =  Nodes  หรือ  กลุ่ม

                                นักเรียนดนตรีเล่นเครื่องดนตรีที่บ้านคนเดียวก็มีความไพเราะระดับหนึ่ง    แต่ถ้าหลาย ๆ คน   หลาย ๆ บ้านมาเล่นร่วมกันจะไพเราะมากขนาดไหน  เด็ก ๆ ควรมารวมกลุ่มกันด้วยความสมัครใจ  สมาชิกกลุ่มพบปะกันบ่อย ๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน   ชวนกันทำอะไรที่สร้างสรรค์  เมื่อรวมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้จะมีความสุขและความสร้างสรรค์เหลือหลาย  ความเป็นกลุ่มจะหลุดพ้นจากความบีบคั้นที่ดำรงอยู่ในองค์กรอำนาจทางดิ่ง  ความมีกลุ่มอันหลากหลายให้เต็มสังคม  คนคนหนึ่งอาจเป็นสมาชิกได้หลายกลุ่มตามความสมัครใจ

                N =  Networks   หรือ  เครือข่าย

                                ปัจเจกบุคคล (I)   กลุ่ม (N)  ก็ตาม   ควรเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับบุคคลหรือกลุ่มอื่น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  แต่ละคนแต่ละกลุ่มอาจเป็นสมาชิกของหลายเครือข่ายตามความสมัครใจ



INN  หรือ   บุคคล -  กลุ่ม -  เครือข่าย   จะเป็นโครงสร้างที่ไม่มีใครมีอำนาจเหนือใคร  ทุกคนและทุกกลุ่มเข้ามาเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย  มีการเรียนรู้ร่วมกัน   โครงสร้างอย่างนี้จะให้ความสุข  ความสร้างสรรค์  เป็นโครงสร้างที่มีจิตวิญญาณ  และมีพลังที่จะเยียวยาสังคมโลกาภิวัฒน์  สังคมโลกที่เจ็บป่วย

INN   โครงสร้างแห่งความสุขและความสร้างสรรค์ที่จะนำเสนอ  ได้แก่  กิจกรรมดนตรีเพื่อเยาวชน  จึงเป็นทางรอดของสังคม   นักเรียนควรมีโอกาสแสดงความสามารถ  เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น  ฝึกทักษะชีวิตการเป็นผู้นำ  ผู้ตาม  และความภาคภูมิใจในความสามารถทีคุณภาพ  มีศักดิศรี  และมีศักยภาพ



กิจกรรมดนตรีเพื่อเยาวชนในประเทศไทย

เยาวชนและผู้สนใจสามารถร่วมกิจกรรมดนตรีในประเทศไทยได้  เช่น    วงดุริยางค์เยาวชนไทย  Thai  Youth  Symphony  Orchestra (TYO)  ,วง ดร. แซกเชมเบอร์ออร์เคสตร้า (Dr. Sax  Chamber  Orchestra)  ,  โครงการเยาวชนรักดนตรี  มศว ประสานมิตร  ,  MCGP  String  Chamber  Orchestra  วิทยาลัยดุริยางคศิลป์  มหาวิทยาลัยมหิดล , วงออร์เคสตร้าชุมชนประสานมิตร  มศว  เป็นต้น

 กิจกรรมดนตรีในโรงเรียน

                การเรียนการสอนดนตรีขั้นพื้นฐานตาม พ.ร.บ. การศึกษาใหม่   กลุ่มโรงเรียนเอกชนจะมีบทบาทและความเข้าใจในการจัดการศึกษาวิชาดนตรี  มีการสอนโดยเน้นให้นักเรียนได้เรียนปฏิบัติเครื่องดนตรีจริง ๆ ในการเรียนการสอน  พร้อมทั้งจัดกิจกรรมดนตรีในโรงเรียน  ในช่วงแรก ๆ ก็จะเริ่มกันที่วงโยธวาฑิตและการแข่งขันในระดับต่าง ๆ ทั้งในประเทศจนถึงระดับนานาชาติ  ต่อมาพัฒนาเป็นวงซิมโฟนิคแบนด์  และในปัจจุบันหลาย ๆ โรงเรียนเริ่มสนับสนุนและให้ความสำคัญของดนตรีประเภทเครื่องสายสากลในลักษณะวงเชมเบอร์  วงออร์เคสตร้า  และในอนาคตอันใกล้คงได้รับฟังบทเพลงในลักษณะวงซิมโฟนีออร์เคสตร้ากันเป็นแน่

                โรงเรียนที่มีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนดนตรีสากลกลุ่มเครื่องสายสากล  ดังเช่น  โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย   เป็นโรงเรียนหนึ่งที่มีการเรียนการสอนดนตรีเครื่องสายสากลมานาน  ซึ่งมีกิจกรรมวงจุลดุริยางค์วชิราวุธวิทยาลัยเป็นกิจกรรมดนตรีในโรงเรียน  และอีกหลาย ๆ โรงเรียนที่ริเริ่มการเรียนการสอนดนตรีเครื่องสายสากลในโรงเรียนในเวลาต่อมา  เช่น  โรงเรียนเซนต์จอนห์ , โรงเรียนเซนต์ดอมินิก ,  โรงเรียนสารสาสน์พิทยา , โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน  และโรงเรียนทิวไผ่งาม



องค์ประกอบกิจกรรมดนตรีเพื่อเยาวชน

1.       นักดนตรีควรอยู่กับกิจกรรมดนตรี  ร่วมเล่นและพัฒนาวงดนตรีไม่น้อยกว่า 3 ปี

2.       กิจกรรมวงดนตรีต้องใช้เวลาและมีอายุปีในการทำกิจกรรม  เพื่อการเติบโตและพัฒนาความสามารถนักดนตรี  โปรแกรมเพลงการแสดงต่าง ๆ

3.       นักดนตรีที่ทำกิจกรรมดนตรี  ควรมีชั่วโมงเรียนดนตรีเพื่อพัฒนาความสามารถบุคคล

4.       เครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างนักเรียนดนตรี   ผู้ปกครอง  คณะกรรมการดำเนินการ  ต้นสังกัด  มิตรรักแฟนเพลง



ปัญหาการจัดกิจกรรมดนตรีเพื่อเยาวชน :  การสอนดนตรีต่างวัฒนธรรม

                ปัญหาในเรื่องดังกล่าว  เรเมอร์ ได้เสนอแง่มุมการศึกษาไว้ 2 กรณี  คือ (1)  ในฐานะที่ประเทศอเมริกาเป็นประเทศประชาธิปไตยและประกอบไปด้วยกลุ่มเผ่าพันธุ์ที่แตกต่างหลากหลาย  ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว   (2)  ปัญหาความสำคัญของความแตกต่างของวัฒนธรรมทางดนตรี  ในเรื่องดังกล่าวผู้เรียบเรียงนำเอาประเด็นที่ 2 มาสรุปเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญ  และที่ส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอนดนตรีในโรงเรียนเท่านั้น

                มนุษย์มีความเหมือนและความแตกต่าง  ถ้าศิลปะช่วยสะท้อนโลกทัศน์  ระบบความคิดมนุษย์ออกมาในทางศิลปะ (as  a  whole  captures  and  displays  th  dynamics  of  human  subjective  experience)  ดังนั้น  ในการสอนของเราต้องสอนดนตรีที่หลากหลาย  เนื่องจากดนตรีจะช่วยให้ผู้เรียนรู้จักทั้งตนเอง  และรู้จักว่าผู้อื่นนั้นมีความเหมือนและมีความแตกต่างกับตนเองอย่างไร

                การเรียนดนตรีในวัฒนธรรมของตนเอง  มีความจำเป็นที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้ประสบการณ์สุนทรียะที่คนในวัฒนธรรมของตนนั้นได้แสดงออกมา  แต่เราก็มีความจำเป็นที่ให้ผู้เรียนได้เรียนประสบการณ์สุนทรียะของวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่แตกต่างจากผู้เรียนด้วย  เพื่อผู้เรียนได้เข้าใจว่าโลกใบนี้ประกอบด้วยคนที่แตกต่างในเรื่องวัฒนธรรม  มีอะไรที่มนุษย์ในโลกใบนี้แสดงออกมาเหมือนกันทั้งโลก  และมีอะไรที่ไม่เหมือนกัน   และการแสดงออกในเรื่องศิลปะ  หรือประสบการณ์ในเรื่องสุนทรียะ  มีอะไรที่มนุษย์ทั้งโลกนี้แสดงออกได้เหมือนกันหมดและมีอะไรที่แตกต่างกัน   ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องสอนดนตรีทั้งในวัฒนธรรมของผู้เรียนและที่มีความแตกต่างไปจากที่ผู้เรียนด้วยเหตุผลที่กล่าวไปแล้ว

โดย  ยงยุทธ    เอี่ยมสอาด

อาจารย์ดนตรีประจำโรงเรียนสาธิต  มศว  ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม)


หนังสืออ้างอิง

ประเวศ   วะสี. (2547).   การพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ  สู่สภาวะจากการมีจิตสูงทั้งประเทศ.

                   กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิสดศรี – สฤษดิ์วงศ์.

สุกรี    เจริญสุข, (2547).  เส้นทางพรสวรรค์ที่สร้างได้.  วารสาร Music  Talk.

ศักดิ์ชัย   หิรัญรักษ์.  ปัญหาของการสอนดนตรีต่างวัฒนธรรม.  วิทยาลัยดุริยางคศิลป์

   มหาวิทยาลัยมหิดล (อัดสำเนา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น